นายกฯ ปลื้มนโยบาย "Medical Hub" ดันความมั่นคงด้านสุขภาพของไทยติดอันดับโลก
28 ธ.ค. 2565, 15:30
วันนี้ ( 28 ธ.ค.65 ) นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบาย Medical Hub หรือการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติที่ส่งผลให้การแพทย์และการสาธารณสุขของไทย เป็นที่ยอมรับทั้งด้านศักยภาพและความพร้อมในระดับโลก กลายเป็นจุดแข็งดึงดูดประชากรโลกและนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศทั้งเพื่อการพักผ่อนและการรักษาตัว ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา Medical Tourism Association จัดอันดับให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยติดอันดับ 5 ของโลก เกิดจากแพทย์ไทยมีศักยภาพและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ คุณภาพและมาตรฐานการรักษาระดับสากล ค่ารักษาพยาบาลสมเหตุสมผล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมด้าน Wellness ทั้งการนวดไทย สปา ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ซึ่งเป็น Soft power ไทยที่สร้างความประทับใจ ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวและรายได้เข้าประเทศไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมเป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนแผนแม่บทประเด็นด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Wellness ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยังได้เปิดเผย รายได้จาก Medical Hub ในปี 2564 โดยอ้างอิงข้อมูลสำรวจธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขมีมูลค่าถึง 11,903 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจภาคเอกชน ที่คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยจะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วด้วยมูลค่าเกือบ 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2566
นายธนกร กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบาย Medical Hub มีเป้าหมายหลัก คือ 1. เป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) เช่น นวดไทยเพื่อสุขภาพ สปาเพื่อสุขภาพ น้ำพุร้อน 2. ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) เช่น การบริการการรักษาเฉพาะทาง การตรวจสุขภาพทันตกรรม ศัลยกรรมตกแต่งและเสริมความงาม บริการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก 3. ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) เช่น การพัฒนาทางด้านการศึกษา การจัดประชุมวิชาการนานาชาติ สามารถสร้างองค์ความรู้ต่อยอดด้านการแพทย์ในประเทศได้ ตลอดจนมีการจัดประชุมต่าง ๆ ช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ได้อีกด้วย และ 4.ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) เช่น การพัฒนายาแผนปัจจุบัน อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอาง อุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งนี้ การดำเนินโยบายและมาตรการด้านสาธารณสุข และนโยบาย Medical Hub นอกจากจะช่วยคนไทยทั้งประเทศให้มีระบบสาธารณสุขที่ดี มีศักยภาพ ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย แล้ว ยังจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่ามหาศาล ลดการพึ่งพิงการนำเข้ายา เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์จากต่างประเทศ สร้างประโยชน์ด้านสาธารณสุขของไทยอย่างยั่งยืน
“ท่านนายกฯ ผลักดันนโยบาย Medical Hub ผ่านกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อให้การบริการการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นอุตสาหกรรมการบริการชั้นนำของภูมิภาคและของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศ พร้อม ๆ กับการดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนในประเทศ ด้วยการยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขยายนโยบาย 30 บาททุกที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ช่วยผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ เพราะสุขภาพของประชาชนคือความมั่นคงของชาติ ขณะเดียวกันการสาธารณสุขยังเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอีกด้วย” นายธนกร กล่าว