แยกออกไหม? ความแตกต่างระหว่าง “แมวดาว สัตว์ป่าคุ้มครอง” vs “แมวเบงกอล แมวต่างถิ่น”
3 ก.พ. 2566, 12:31
วานนี้ (2 ม.ค.66) เฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยความแตกต่างระหว่าง “แมวดาว สัตว์ป่าคุ้มครอง” vs “แมวเบงกอล แมวต่างถิ่น” ที่ทำให้หลายคนสับสนกันอยู่บ่อยๆ เพราะมันคล้ายกันมากๆ โดยระบุว่า
แมวดาว (LeopardCat) มีขนาดเท่ากับแมวบ้าน แต่มีความเพรียวมากกว่า ขนมีสีซีดสีน้ำตาลอ่อน บริเวณท้องสีขาว มีลายคล้ายดอกกุหลาบบริเวณลำตัวและหาง ส่วนปลายหางเป็นปล้อง มีแถบดำสี่แถบพาดขนานจากหน้าผากไปยังบริเวณคอ แมวดาวมีหัวขนาดเล็ก ปากสั้น และหูกลม
สถานภาพปัจจุบัน : แมวดาวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ (Least concern; LC) ตามบัญชีแดงของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN Red List, 2008) และเป็นชนิดพันธุ์ที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีสัตว์หมายเลข 2 ของอนุสัญญาการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ (CITES)"
ส่วนแมวเบงกอล (Bengal) มีลักษณะภายนอกคล้ายแมวป่า แข็งแรง มีความสมดุลของกล้ามเนื้อและขนาดตัว แมวเบงกอลมีจุดสังเกตเป็นสีเข้มบริเวณรอบดวงตา มีหูขนาดเล็ก แต่มีความกลมมนที่ส่วนปลายหู ขนสั้นถึงปานกลาง ผิวสัมผัสมีความแน่นและเรียบ นอกจากนี้ยังมีสีของขนที่เป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์ไม่เหมือนกับแมวชนิดอื่น คือ มีลายจุด, ลายลูกศร หรือ ลายหินอ่อน ซึ่งจุดส่วนใหญ่จะปรากฎในรูปแบบสุ่ม หรือวางตัวในแนวนอนตามลำตัว