"กรมทางหลวง" สัมมนาสรุปผลออกแบบปรับปรุงทางแยกต่างระดับ จุดตัดถนนมิตรภาพ-ถนนเข้าเมืองสีคิ้ว บรรเทาปัญหาจราจรติดขัด
13 ก.พ. 2566, 23:06
วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมจันทึก 1 เทศบาลเมืองสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา นายสมชาย อำพันกาญจน์ นายอำเภอสีคิ้ว เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับถนนเข้าเมืองสีคิ้ว เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาด้านวิศวกรรม มาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ผลการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกลุ่มเป้าหมายเพื่อนำไปประกอบการปรับปรุงรายละเอียดการออกแบบโครงการ และกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้มีความเหมาะสมต่อไป โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม สำหรับบริเวณพื้นที่โครงการเป็นจุดตัดระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (กม.104+534.000) กับถนนเข้าเมืองสีคิ้ว (กม.0+000.000) ขนาด 4 ช่องจราจร โดยจุดเริ่มต้นของถนนแยกเข้าเมืองสีคิ้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษานั้นมีลักษณะเป็นสามแยกระดับพื้นเชื่อมต่อกับทางขนานของทางหลวงหมายเลข 2 วิ่งเข้าสู่ตัวเมืองสีคิ้วไปทางทิศเหนือและไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 รวมระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันทิศทางการจราจรที่มีปัญหา คือ รถที่มาจาก จ.นครราชสีมา เพื่อเข้าสู่ตัวเมืองสีคิ้ว กรมทางหลวง จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงบริเวณทางแยกแห่งนี้เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจราจร
โดยการประชุมในครั้งนี้ สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง พร้อมที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอรูปแบบการพัฒนาโครงการบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับถนนเข้าเมืองสีคิ้ว โดยออกแบบเป็นช่องทางเลี้ยวขวาระดับพื้น (At Grade Direction) โดยทิศทางจาก จ.นครราชสีมาเลี้ยวขวาเข้าสู่ อ.สีคิ้ว ออกแบบเป็นช่องทางเลี้ยวขวาระดับพื้นดินขนาด 1 ช่องจราจร กว้าง 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2.5 เมตร เพื่อเลี้ยวเข้าสู่วงเวียนและเข้าเมืองสีคิ้วต่อไป นอกจากนี้มีการออกแบบบริเวณจุดต่างๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.วงเวียน ออกแบบเพื่อกระจายการจราจรออกสู่ทิศทางต่างๆ อย่างคล่องตัว ไม่ต้องติดสัญญาณไฟจราจร วงเวียนมีขนาด 2 ช่องจราจร กว้างช่องจราจรละ 4 เมตร รัศมีส่วนที่แคบสุดมีขนาด 13.5 เมตร ช่องทางเลี้ยวซ้ายทั้งสองทิศทางออกแบบให้มีช่องทางเลี้ยวโดยแยกออกจากช่องจราจรในวงเวียน 2.บริเวณพื้นที่โดยรอบ จัดให้มีพื้นที่สำหรับจอดรถ และรถรับ-ส่งผู้โดยสาร โดยจัดให้มีช่องทางเดินรถสำหรับรถสาธารณะอีกหนึ่งช่องทางซึ่งสามารถเชื่อมต่อและเข้า-ออกภายในวงเวียนได้ สำหรับทิศทางการจราจร มีรายละเอียดดังนี้ 1.ทิศทางจาก จ.สระบุรี ไป จ.นครราชสีมา ช่องทางหลักออกแบบเป็นทางลอดตามแนวทางหลวงหมายเลข 2 ขนาด 3 ช่องจราจรกว้างช่องจราจรละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 1.25 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 0.75 เมตร โดยมีความยาวของโครงสร้างทางลอด 600 เมตร ออกแบบเป็นกำแพงคอนกรีตแบบหล่อในที่ มีลักษณะเปิดโล่งแต่จะปิดทึบเฉพาะช่องที่รองรับช่องจราจรเลี้ยวขวาเข้าเมืองสีคิ้ว ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานอาจเปิดช่องจราจรให้บริการเพียง 2 ช่องทาง เพื่อให้สอดคล้องกับขนาดช่องจราจรบนทางหลวงที่มีอยู่เดิม2.ทิศทางจาก จ.นครราชสีมา ไป จ.สระบุรี ออกแบบให้มีขนาด 3 ช่องจราจร ระดับพื้นดิน กว้างช่องจราจรละ 3.5 เมตร และเมื่อเปิดใช้งานอาจเปิดช่องจราจรให้บริการเพียง 2 ช่องทาง เพื่อให้สอดคล้องกับขนาดช่องจราจรบนทางหลวงที่มีอยู่เดิม 3.ทิศทางเลี้ยวขวาจาก อ.สีคิ้ว ไป จ.สระบุรี สามารถใช้ทางกลับรถยกระดับที่มีอยู่แล้วได้ส่วนงานออกแบบระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ออกแบบระบบไฟฟ้าโดยใช้หลักการเดียวกับการออกแบบถนนตามมาตรฐานของกรมทางหลวง โดยใช้เสาไฟส่องสว่างแบบกิ่งเดียวและกิ่งคู่ ความสูงเสาประมาณ 12 เมตร สำหรับ 3 ช่องจราจร และความสูง 9 เมตร สำหรับ 2 ช่องจราจร ระยะห่างประมาณ 30 เมตร ด้านงานออกแบบระบบระบายน้ำ ออกแบบระบบระบายน้ำให้น้ำระบายตามแนวถนนโครงการโดยออกแบบเป็นชนิดท่อกลมขนาด 1.2 เมตร พร้อมกับบ่อพัก TYPE C ทุกระยะ 15 เมตร จาก กม.103+350 ถึง กม.106+332.40 ทั้งสองฝั่งของถนนบริเวณพื้นที่โครงการ
นอกจากนี้ เนื่องจากที่ตั้งโครงการบริเวณแยกเข้าเมืองสีคิ้ว ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 2 ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่มีการจราจรคับคั่งและมีผู้ใช้เส้นทางเป็นจำนวนมาก การออกแบบและก่อสร้างจึงไม่เพียงมุ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยหากแต่ยังคำนึงถึงการสร้างทัศนียภาพที่สวยงามและสะท้อนเอกลักษณ์ของท้องถิ่น จึงได้มีการนำลายผ้าซิ่นเมืองสีคิ้ว มาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสถาปัตยกรรม แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ พื้นที่วงเวียน จัดภูมิทัศน์พื้นที่ภายในเกาะกลางวงเวียนในลักษณะเปิดโล่ง และตกแต่งพื้นผิวเกาะกลางด้วยคอนกรีตพิมพ์ลายหิน และสร้างเส้นแถบสลับสีด้วยไม้คลุมดิน โดยประยุกต์ลวดลายและสีสันมาจากลายผ้าซิ่นเมืองสีคิ้ว เกาะกลางถนน การจัดภูมิทัศน์บนเกาะกลางถนน เน้นการปลูกต้นไม้คลุมดินที่ทนต่อสภาวะอากาศและบำรุงรักษาง่ายและมีสีสันสอดคล้องตามลาดลายจากผ้าซิ่นเมืองสีคิ้ว บริเวณจุดพักรถ พื้นที่จุดพักรถนอกวงเวียน ออกแบบให้มีพื้นที่สีเขียว ปลูกหญ้าและต้นทองกวาวเพื่อสร้างความร่มรื่น ในส่วนงานสถาปัตยกรรมอาคารใช้แนวคิดจากลายผ้าซิ่นเมืองสีคิ้วโดยสร้างลายเส้นแถบบนผนังอาคารและแผลประดับม้านั่งภายในศาลาพักคอย ตัวอาคารมีรูปแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัย หลังคาทรงปั้นหยาสีน้ำตาลแผ่นเรียบลายเปลือกไม้สร้างความรู้สึกอบอุ่นและผ่อนคลาย นอกจากนี้ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้เตรียมกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ครอบคลุมทั้งในระยะเตรียมการก่อสร้างและระยะก่อสร้าง อาทิเช่น กำหนดขอบเขตแนวเส่นทางโครงการให้ชัดเจน จำกัดขอบเขตพื้นที่ก่อสร้างให้น้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ใช้ทาง หรือการฉีดพรมน้ำ เพื่อควบคุมฝุ่นละออง อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง เพื่อควบคุมการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง เป็นต้น ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง และบริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาประกอบการพิจารณาประกอบปรับปรุงออกแบบรายละเอียดในรายงานขั้นตอนสุดท้าย (Final Report) และปรับปรุงมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยหลังจากดําเนินการสํารวจและออกแบบรายละเอียดโครงการ พร้อมทั้งดําเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการแล้วเสร็จ กรมทางหลวงจะเสนอโครงการเพื่อให้ ครม.เห็นชอบ และเสนอของบประมาณดําเนินการดําเนินการก่อสร้างเมื่อมีการก่อสร้างโครงการจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ2 ปีจึงสามารถเปิดให้บริการได้โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.ทางแยกเข้าเมืองสีคิ้ว.com 2.แฟนเพจเฟสบุ๊ค : ทางแยกเข้าเมืองสีคิ้ว และ 3.Line Official : @แยกเข้าเมืองสีคิ้ว