โฆษกฯ ย้ำ! รัฐบาลแก้ปัญหายาเสพติดจริงจัง ควบคู่บำบัดรักษาผู้เสพ ให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดีของสังคม
15 ก.พ. 2566, 08:42
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการปฏิบัติการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ตามนโยบายรัฐบาลและพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ล่าสุดกับการดำเนินการระยะเร่งด่วน (1 พ.ย. 65-31 ม.ค. 66) กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ได้บูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ โดยผลการปฏิบัติเรื่องร้องเรียนยาเสพติดและผลการจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 มีดังนี้ (1) ผลการดำเนินงานเรื่องร้องเรียนยาเสพติด ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2565 โดยร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนยาเสพติด 1386 สำนักงาน ป.ป.ส. จำนวน 4,787 เรื่อง และร้องเรียนผ่านสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 1111 จำนวน 7 เรื่อง รวมเรื่องร้องเรียน จำนวน 4,794 เรื่อง (บุคคล 4,470 คน และพื้นที่ 324 เรื่อง) ดำเนินการแล้ว จำนวน 2,142 เรื่อง (บุคคล 2,023 คน และพื้นที่ 119 เรื่อง) คิดเป็นร้อยละ 44.68 และ (2) ผลการดำเนินงานจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2565 สามารถดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดรวม จำนวน 7 ราย จำแนกประเภทเป็น เจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 ราย เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ 1 ราย เจ้าหน้าที่สมาชิกสภาองค์กรส่วนท้องถิ่น 1 ราย ลูกจ้างปกครองส่วนท้องถิ่น 2 ราย และจำแนกตามข้อหาคือสมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด 2 ราย และครอบครองเพื่อการค้า 4 ราย และเสพ 1 ราย โดยสามารถยึดทรัพย์รวมมูลค่าประมาณ 4,402,905 บาท
นายอนุชากล่าวย้ำว่า รัฐบาลได้มีมาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ประกอบด้วย
1) การควบคุมสารเคมีที่นำไปใช้ผลิตยาเสพติด เช่น ระงับการส่งออกและชะลอการนำเข้าวัตถุอันตรายบางรายการชั่วคราว ได้แก่ (1) ระงับการอนุญาตให้ส่งออกและชะลอการอนุญาตให้นำเข้าสารโซเดียมไซยาไนด์และสารเบนซิลไซยาไนด์ไว้จนกว่าจะได้ปรับปรุงวิธีพิจารณาอนุญาตการนำเข้าและการส่งออก และจัดทำหลักเกณฑ์การควบคุมแล้วเสร็จ ทั้งนี้ การอนุญาตให้นำเข้าและส่งออกสารเคมีทั้ง 2 ชนิด จะอนุญาตตามปริมาณการใช้จริงเป็นราย ๆ ไปเท่านั้น และ (2) การขออนุญาตส่งออกและขออนุญาตนำเข้าสารโซเดียมไซยาไนด์และสารเบนซิลไซยาไนด์ และสารเบนซิลคลอไรด์จะดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้ซื้อ ต้องยืนยันตนโดยการลงทะเบียนเพื่อควบคุมปริมาณและการติดตามการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด รวมทั้งยึดและอายัดวัตถุอันตรายที่ใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติด โดยอายัดสารโซเดียมไซยาไนด์ 220 ตัน
2) การทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและยึดอายัดทรัพย์สิน โดยดำเนินการสืบสวน ขยายผล เพื่อทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติด ซึ่งในห้วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 มีการกำหนดเครือข่ายเป้าหมายในการดำเนินการ 242 เครือข่าย และได้จัดทำรายงานข่าวสารยาเสพติดของเครือข่าย 739 ฉบับ รวมทั้งจัดทำรายงานเป้าหมายบุคคลในเครือข่าย 1,098 คน รวมถึงกำหนดเป้าหมายยึด อายัดทรัพย์สินคดียาเสพติด ใบปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มูลค่า 100,000 ล้านบาท ผลการดำเนินงานยึด อายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 11,280 ล้านบาท (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2565)
3) การติดตามจับกุมผู้มีหมายจับคดียาเสพติด โดยสำนักงาน ป.ป.ส. กำหนดเป้าหมาย 8,402 หมายจับ สามารถดำเนินการเร่งรัดติดตามจับกุมผู้มีหมายจับคดียาเสพติดได้ 88 หมายจับ (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-15 ธันวาคม 2565) ขณะที่กระทรวงกลาโหม ได้เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดตามบริเวณแนวชายแดน ดังนี้ (1) สกัดกั้นยาเสพติด ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-26 ธันวาคม 2565 สามารถจับกุมและสกัดกั้นยาเสพติด ได้แก่ ยาบ้า จำนวน 12.29 ล้านเม็ด เฮโรอีน จำนวน 11 กิโลกรัม ยาไอซ์ จำนวน 586,956.75 กรัม และ ยาอี จำนวน 15,000 เม็ด (2) ปราบปรามยาเสพติด โดยมีมาตรการหลัก ได้แก่ การปฏิบัติการข่าวเชิงลึกด้วยการจัดตั้งตัวแทนในพื้นที่พิเศษพื้นที่ชายแดน การรวบรวมข่าวสาร ติดตาม ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของกลุ่ม/ขบวนการค้ายาเสพติด การบูรณาการกำลังในการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจพื้นที่เพ่งเล็ง และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2565 สามารถดำเนินการจับกุม/ตรวจยึดยาเสพติดได้ ดังนี้ ผู้ต้องหา จำนวน 18 คน ยาบ้า จำนวน 11.93 ล้านเม็ด ยาไอซ์ จำนวน 435.1 กิโลกรัม และเคตามีน จำนวน 9.9 กิโลกรัม รวมไปถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ดำเนินการเชิงรุกในการปราบปรามและจับกุมผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ขยายผลและใช้มาตรการทางทรัพย์สิน และกฎหมายปราบปรามการฟอกเงินและร่วมกับภาคีเครือข่ายค้นหาผู้ติดยาเสพติดจัดทำฐานข้อมูล (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-15 ธันวาคม 2565 มีการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดรวม 80,354 คดี ผู้ต้องหา 79,931 ราย
4) การทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อค้นหาผู้เสพยาเสพติดทั่วประเทศ ได้แก่ (1) สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับ ตช. และ มท. ในการบูรณาการฐานข้อมูลผู้เสพ ผู้ติด ผู้มีอาการทางจิตเวช โดยจัดตั้งฐานข้อมูลด้านยาเสพติดที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงาน ป.ป.ส. (2) ตช. ดำเนินการ Re X-Ray ผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด และผู้มีอาการทางจิตเวช จำนวน 158,333 ราย มีผู้ใช้ ผู้เสพ เข้าสู่กระบวนการบำบัด 106,937 ราย ผู้ป่วยจิตเวชที่มีสาเหตุจากยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด 25,586 ราย และไม่ได้มีสาเหตุมาจากยาเสพติด 25,810 ราย (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-20 ธันวาคม 2565) (3) มท. ดำเนินการ Re X-Ray ผู้เสพ ผู้ติด ผู้ค้า และผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พบผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดทั่วประเทศ จำนวน 119,195 คน ผู้ค้ายาเสพติดทั่วประเทศ จำนวน 18,374 คน (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2565)
5) การศึกษาและทบทวนกรณีผู้เสพเป็นผู้ป่วย โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ดำเนินการทบทวนร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. .... (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์)
รวมทั้งรัฐบาลมีมาตรการด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด แบ่งเป็น ดังนี้ 1) มาตรการระยะเร่งด่วน เช่น (1) บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด โดยในไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีผลการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ตามแบบบำบัดรักษาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 แบ่งเป็น มาตรา 113 จำนวน 9,447 ราย มาตรา 114 จำนวน 7,414 ราย และศาล จำนวน 1,160 ราย (2) มีระบบบูรณาการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด (SMI-V Care) ในพื้นที่นำร่อง 30 จังหวัด (3) เร่งรัดสำรวจศูนย์คัดกรองให้ครอบคลุมทุกตำบล และดำเนินการขึ้นทะเบียนศูนย์คัดกรองแล้ว จำนวน 9,473 แห่ง (4) เร่งรัด สนับสนุน และร่วมบูรณาการการดำเนินงานกับหน่วยงานในพื้นที่ CBTx (Community based treatment and rehabilitation) สร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัวชุมชน สังคม ดูแลผู้ติดยาเสพติด ดำเนินการแล้ว 659 ชุมชน และจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 775 แห่ง ดำเนินการแล้ว จำนวน 439 แห่ง 2) มาตรการระยะกลาง เช่น สนับสนุนการดำเนินงานของสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดภาคีเครือข่าย จำนวน 146 แห่ง เร่งรัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด เพื่อสำรวจ ตรวจสอบและยื่นขึ้นทะเบียนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้ครอบคุลมทุกจังหวัดถึงระดับตำบล โดยได้ดำเนินการศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมขึ้นทะเบียนเว็บไซต์แล้ว จำนวน 912 แห่ง และจัดให้มีบริการหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดทุกโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป และครอบคลุมทุกจังหวัด และ 3) มาตรการระยะต่อเนื่อง โดยดำเนินการควบคุมกำกับ ติดตาม ศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด/สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมและการใช้ชุมชนเป็นฐานการบำบัดยาเสพติด ให้เป็นไปตามมาตรฐานโดยมีการประเมินจากคณะกรรมการระดับเขตสุขภาพด้วย
“การดำเนินงานที่เกิดผลเป็นรูปธรรมดังกล่าว เป็นนโยบายนายกรัฐมนตรีที่เน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทำงานเชิงรุกทั้งการปราบปราม จับกุมผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ ขยายผลไปสู่การทำลายเครือข่าย จับกุมนายทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการปราบปรามเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ควบคู่ประสานความร่วมมือทุกฝ่ายในสังคม นำผู้เสพเข้าสู่การบำบัดรักษา เป็นกำลังใจให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดีของสังคม ทั้งนี้ รัฐบาลขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันเป็นหูเป็นตากับภาครัฐ และแจ้งเบาะแสยาเสพติดมาได้ทางสายด่วน 1386 สำนักงาน ป.ป.ส. หรือทางสายด่วน 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความมั่นคง และเป็นสังคมปลอดภัยยาเสพติด” นายอนุชา กล่าว