พาณิชย์ เจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี(FTA) ไทย-ยุโรป เพิ่มสัดส่วนการค้า
16 ก.พ. 2566, 16:10
วันนี้ ( 16 ก.พ.66 ) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านความเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป และกรอบการเจรจา FTA ไทย –สหภาพยุโรป ว่า หลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเริ่มเจรจา โดยแจ้งให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการกระทรวงพาณิชย์ของอียู หรือสหภาพยุโรปรับทราบ เพื่อดำเนินการขอความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ปีหลังจากนี้ ในการจัดทำ FTA เมื่อได้ผลสรุปจากการเจรจาแล้วจะมีการนำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบให้ประเทศไทย ไปให้สัตยาบันผลการเจรจาจึงจะมีผลบังคับใช้ ถือเป็นผลสำเร็จของรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญต่อการจัดทำ FTA ตามนโยบายเพิ่มสัดส่วนการค้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 80 ภายในปี 2570
การจัดทำ FTA จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้แต้มต่อจากประเทศคู่ค้า FTA ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นการจัดเก็บภาษี ศุลกากรกับสินค้าที่นำเข้าจากไทย อีกทั้งยังเป็นการดึงดูดการลงทุน สร้างงาน สร้างรายได้ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ GDP ของไทยขยายตัวร้อยละ 1.28 ทั้งนี้ เนื่องจากสหภาพยุโรปมีประเทศสมาชิกถึง 27 ประเทศ ไทยมีสัดส่วนการค้ากับสหภาพยุโรปร้อยละ 7 จากการค้าทั่วโลก ถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญด้านการค้าการลงทุนของไทย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยมีการจัดทำ FTA 14 ฉบับ ใน 18 ประเทศคู่ค้า ประกอบด้วย สมาชิกกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง รวมมูลค่าการค้าในปี 2565 ที่ผ่านมาถึง 12.55 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 359,000 ล้านสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61 ของการค้าทั้งหมดทั่วโลกกับไทย