ผู้ว่าฯ กาญจนบุรี เปิดงานสตรีกาญจน์ สวยไฉไลด้วยผ้าไทย ร่วมใจลดขยะ เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2566
7 มี.ค. 2566, 18:40
วันนี้ 07 มี.ค. 2566 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่ห้องประชุมบุษราคัม องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานเปิดงานสตรีกาญจน์ สวยไฉไลด้วยผ้าไทย ร่วมใจลดขยะ เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2566 พร้อมด้วย รศ.ดร.พญ.เรวิกา ไชยโกมินทร์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดกาญจนบุรีและนายกเหล่ากาชาดจังหวัดกาญจนบุรี โดยมี นายพิสิษฐ์ กาญจนภิญพงษ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี นางรัชนี โพธิสัตยา พัฒนาการจังหวัดกาญจนบุรี ให้การต้อนรับและนางสาวสุรีย์ แม้นทิม หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ มีนายศักรินทร์ ทุมเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรสตรีและเครือข่ายสตรีภายในจังหวัดกาญจนบุรี เข้าร่วมงานจากทั้ง 13 อำเภอ
จังหวัดกาญจนบุรีร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จังหวัดกาญจนบุรี จัดงานโครงการ “วันสตรีกาญจน์ สวยไฉไลด้วยผ้าไทย ร่วมใจลดขยะ” เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2566 เพื่อให้สตรีได้เห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ แสดงพลังสตรีในการลดการสร้างขยะอย่างเป็นรูปธรรมและส่งเสริมให้สตรีมีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่อัตลักษณ์ผ้าถิ่นไทยด้วยการส่วมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาสตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดกาญจนบุรีให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณชนทั่วไป
โดยภายในงานมีการแสดงโชว์ “รำวงมหาดไทยเพื่อคนไทย” แสดงโดยคณะกรรมการและสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดกาญจนบุรี การแสดงจากเยาวชน นักเรียนโรงเรียนบ้านอูล่อง อำเภอทองผาภูมิ ทั้งนี้รศ.ดร.พญ.เรวิกา ไชยโกมินทร์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดกาญจนบุรี นำสตรีกาญจนบุรีกล่าวประกาศเจตนารมณ์โดยพร้อมเพรียงกัน จากนั้นได้มีการแสดงโชว์ผลิตภัณฑ์ จากวัสดุเหลือใช้ วัสดุรีไซเคิลและเดินแบบโชว์ผ้าย้อมจากธรรมชาติ ผ้าพื้นถิ่นจังหวัดกาญจนบุรี และภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเนื่องในวันสตรีสากล 2566 ภายใต้หัวข้อ “รวมพลังสตรีจิตอาสาพัฒนา” นิทรรศการผ้าไทย ใส่ให้สนุกและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าพื้นถิ่นและนิทรรศการ บริหารจัดการขยะแบบครบวงจร
เนื่องในวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสตรีสากล ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญของการพัฒนาสังคมไปสู่ความเสมอภาค ความเท่าเทียมทางเพศ โดยให้ประชาชนทุกภาคส่วนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เน้นการมีส่วนร่วม มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะกลุ่มสตรี คือ หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญและสอดคล้องกับแผนการพัฒนาต่างๆ ซึ่งทางรัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนให้สตรีมีการศึกษา สามารถเข้าถึง เข้าใจและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมไปถึงข้อมูลต่างๆ ให้มีความรู้ในการประกอบอาชีพที่มั่นคงและนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันอย่างมีศักยภาพ