นบข.เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2566 เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา
20 มี.ค. 2566, 13:40
วันนี้ (20 มี.ค. 66) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2566 ร่วมกับพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุมดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายต่อที่ประชุมตอนหนึ่งว่า การทำงานในช่วงนี้ต้องระมัดระวัง จากนี้ไปต้องระวังในเรื่องการเป็นรัฐบาลรักษาการ ในการใช้จ่ายงบประมาณการริเริ่มทำโครงการใหม่ ๆ ต่าง ๆ ก็ตาม วันนี้จะมีประชุมเพื่อรับทราบแนวนโยบายจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้นำทีมหารือในเช้าวันนี้ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ฉะนั้น ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ซึ่งยังไม่ทราบว่ารัฐบาลต้องรักษาการนานมากน้อยเพียงใด คาดหวังว่าจะเป็นไปตามไทม์ไลน์ในเรื่องการเลือกตั้ง โดยต้องตั้งหลักแบบนี้ไว้ก่อน นายกรัฐมนตรีอยากให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามสิ่งที่ควรจะเป็น
นายกรัฐมนตรีกล่าวห่วงใยปัญหาแรงงานรุ่นใหม่ของภาคการเกษตรในขณะนี้ที่ออกจากภาคการเกษตรพอสมควร ทำให้เหลือแต่เกษตรกรรุ่นพ่อ รุ่นแม่ ผู้สูงอายุ ซึ่งไม่มีกำลังการผลิต จึงต้องใช้เครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือ ทำให้ต้นทุนการผลิตทุกอย่างสูงขึ้นหมด ต้องมีคนรับจ้าง ไม่ได้ทำเอง ดังนั้น จะหาวิธีการอย่างไร อาจหาแนวทางให้ภาคธุรกิจช่วยได้หรือไม่ เพราะเกษตรกรชาวไร่ชาวนามีที่ดินอยู่ หากมีการร่วมทุนกับภาคเอกชนซึ่งไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ แต่เป็นเหมือนกับมีพันธะสัญญาระหว่างกัน เช่น ถ้าปีนี้ราคาข้าวดี เกษตรกรก็ได้ปรับราคาข้าวดี มีการประกันโดยคนที่ร่วมทุน โดยขอฝากให้พิจารณาแนวทางความเป็นไปได้ ว่าจะทำได้หรือไม่ หรือหาวิธีการอื่น ๆ รวมทั้งขอให้ช่วยกันคิดหาแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากที่ดินที่รัฐได้ดูแลหาที่ทำกินให้กับเกษตรกรผ่านกลไกคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
สำหรับมติที่ประชุม นบข. ที่สำคัญ มีมติรับทราบและเห็นชอบในเรื่องโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2566 ดังนี้
1. รับทราบการดำเนินการของกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ดำเนินการตามมติ นบข. ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 เกี่ยวกับการศึกษาโครงการฯ กรณีให้ความคุ้มครองแก่เกษตรกรที่แปลงปลูกเกิดความเสียหายบางส่วนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสมาคมประกันวินาศภัยไทย (สมาคมฯ) ได้จัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการฯ กรณีให้ความคุ้มครองแก่เกษตรกรที่แปลงปลูกเกิดความเสียหายบางส่วนแล้ว โดยมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 การจ่ายค่าสินไหมทดแทน สมาคมฯ อ้างอิงข้อมูลพื้นที่ประสบภัยพิบัติของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ตามแบบรายงานข้อมูลความเสียหายจริงเพื่อรับค่าสินไหมทดแทน (กษ.02 เพื่อการประกันภัย) ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจริง ทั้งนี้ ไม่เกินพื้นที่ที่เอาประกันภัยไว้ โดยกรณีให้ความคุ้มครองแก่เกษตรกรที่แปลงปลูกเกิดความเสียหายบางส่วน หากแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรได้รับความเสียหายแต่ไม่ได้เสียหายทั้งแปลง กรมส่งเสริมการเกษตรจะมีการตรวจนับความเสียหายตามที่เกิดขึ้นจริง และระบุชัดเจนว่ามีพื้นที่ได้รับความเสียหายจำนวนเท่าใด โดยรายงานผ่านระบบ กษ.02 เช่นเดียวกับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในกรณีปกติ
1.2 กรณีแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรเกิดความเสียหาย แต่มิได้อยู่ในเขตพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เกษตรกรจะต้องรายงานความเสียหายของแปลงเพาะปลูกให้สมาคมฯ ทราบผ่านแอปพลิเคชัน “มะลิซ้อน” โดยรูปแบบการประเมินความเสียหายจะใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์โดยมีภาพถ่ายดาวเทียมประกอบ และจะมีการประเมินความเสียหายของพื้นที่เช่นเดียวกับการประเมินของกรมส่งเสริมการเกษตร
2. รับทราบผลดำเนินงานโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 ถึงวันสิ้นสุดการจำหน่ายกรมธรรม์ (วันที่ 31 ธันวาคม 2565) มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ ในส่วนประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) จำนวน 26,754,809.50 ไร่ และในส่วนประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) จำนวน 87,833.50 ไร่
3. เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2566 และมอบหมายกระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยสรุปสาระสำคัญของโครงการ ดังนี้
3.1 ผู้รับประกันภัย บริษัทเอกชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2566 ตามกรมธรรม์
3.2 คุณสมบัติผู้เอาประกัน เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวนาปี และปรับปรุงทะเบียนในปีการผลิต 2566
3.3 พื้นที่รับประกันภัย ดังนี้ การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) จำนวน 21.5 ล้านไร่ เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ธ.ก.ส. 16 ล้านไร่ เกษตรกรทั่วไป พื้นที่นำร่อง 5 ล้านไร่ เกษตรกรทั่วไปไม่เกิน 5 แสนไร่ การรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ (Tier 2) ไม่เกิน 5 แสนไร่ รวม Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 22 ล้านไร่
3.4 อัตราค่าเบี้ยประกันภัย จำแนกเป็น
1) การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) แบ่งเป็น 4 อัตรา (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษี มูลค่าเพิ่ม) ดังนี้ (1) เกษตรกรลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ธ.ก.ส. 115 บาทต่อไร่ เท่ากันในทุกพื้นที่ (2) เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่นำร่อง 70 บาทต่อไร่ (3) เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงปานกลาง 199 บาทต่อไร่ และ (4) เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงสูง 218 บาทต่อไร่
2) การรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ (Tier 2) แบ่งเป็น 3 อัตรา (เกษตรกรจ่ายเองพร้อมทั้งอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ดังนี้ (1) พื้นที่เสี่ยงต่ำ 27 บาทต่อไร่ (2) พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 60 บาทต่อไร่ และ (3) พื้นที่เสี่ยงสูง 110 บาทต่อไร่
3.5 วงเงินคุ้มครอง จำแนกเป็น
1) วงเงินคุ้มครองภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ภัย ได้แก่ (1) น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก (2) ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง (3) ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น (4) ภัยอากาศหนาว หรือน้ำค้างแข็ง (5) ลูกเห็บ (6) ไฟไหม้ (7) ช้างป่า สำหรับการรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) มีวงเงินความคุ้มครอง 1,190 บาทต่อไร่ และการรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ (Tier 2) มีวงเงินความคุ้มครอง 240 บาทต่อไร่ รวมวงเงินความคุ้มครอง Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 1,430 บาทต่อไร่
2) วงเงินคุ้มครองภัยศัตรูพืชและโรคระบาด การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) มีวงเงินความคุ้มครอง 595 บาทต่อไร่ และการรับประกันภัยโดยภาคสมัครใจ (Tier 2) มีวงเงินความคุ้มครอง 120 บาทต่อไร่ รวมวงเงินความคุ้มครอง Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 715 บาทต่อไร่
3.6 การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยของ ธ.ก.ส. โดย ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 46 บาทต่อไร่ สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีของ ธ.ก.ส. ที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566 จำกัดพื้นที่สูงสุดไม่เกิน 30 ไร่ต่อราย
3.7 การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยของรัฐบาล รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับการรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) ให้แก่ผู้เอาประกันภัย ดังนี้
1) เกษตรกรลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ค่าเบี้ยประกันภัยเท่ากันทุกพื้นที่ 115 บาทต่อไร่ (124.12 บาทต่อไร่ รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ธ.ก.ส. อุดหนุน 46 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 78.12 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)
2) เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่นำร่อง ค่าเบี้ยประกันภัย 70 บาทต่อไร่ (75.97 บาทต่อไร่ รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) เกษตรกรจ่าย 5 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 70.97 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)
3) เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงปานกลาง ค่าเบี้ยประกันภัย 199 บาทต่อไร่ (214 บาทต่อไร่ รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) เกษตรกรจ่าย 130 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 84 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)
4) เกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงสูง ค่าเบี้ยประกันภัย 218 บาทต่อไร่ (234.33 บาทต่อไร่ รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) เกษตรกรจ่าย 149 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 85.33 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ทั้งนี้ คิดภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 ของเบี้ยประกันภัยหลังจากรวมค่าอากรแสตมป์แล้ว และค่าเบี้ยประกันภัยทุก 250 บาท คิดค่าอากรแสตมป์ 1 บาท
3.8 ระยะเวลาการขายประกัน กำหนดวันเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ และกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ. และกำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ แตกต่างกันตามภาคภูมิศาสตร์ ดังนี้ (1) ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ จำนวน 58 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 (2) ภาคตะวันตก จำนวน 5 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2566 และ (3) ภาคใต้ จำนวน 14 จังหวัด กำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2566
3.9 การพิจารณาค่าสินไหมทดแทน จ่ายตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และจ่ายเพิ่มเติมกรณีที่เสียหายจริงแต่ไม่อยู่ในเขตประสบภัยตามที่ราชการกำหนด โดยวิธีการประเมินรายแปลงที่เป็นพื้นที่แปลงปลูกเสียหายสิ้นเชิง โดยการแจ้งความเสียหายและแสดงหลักฐานการเสียหาย เกษตรกรต้องบันทึกข้อมูลผ่าน Application “มะลิซ้อน”
3.10 งบประมาณ งบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการฯ สำหรับพื้นที่เอาประกันภัย Tier 1 จำนวน 21.5 ล้านไร่ จำนวนทั้งสิ้น 1,647,435,000 บาท โดยให้ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลและเบิกเงินชดเชยจากรัฐบาลตามจำนวนที่จ่ายจริงรวมกับต้นทุนเงินในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาสบวก 1 ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับ 1.83%) ในปีงบประมาณถัดไป โดยให้มีการปรับเปลี่ยนอัตราต้นทุนทางการเงินตามอัตราที่แท้จริงทุกไตรมาส