หาดูยาก! ปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์บังดาวศุกร์" มองได้ด้วยตาเปล่า (ภาพ)
25 มี.ค. 2566, 10:34
วันนี้ ( 25 มี.ค. 66 ) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ประมวลภาพปรากฏการณ์ ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ หัวค่ำ 24 มีนาคม 2566 บันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ.เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ ช่วงค่ำวันที่ 24 มีนาคม 2566 เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 18:37 - 19:45 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน) สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันตก ช่วงเริ่มต้นปรากฏการณ์ ดวงจันทร์เสี้ยวข้างขึ้น 3 ค่ำค่อย ๆ เคลื่อนที่ไปบังดาวศุกร์ จนดาวศุกร์หายลับไป กินเวลานานประมาณ 1 ชั่วโมง 8 นาที จากนั้นจึงกลับมาปรากฏสุกสว่างอีกครั้ง และด้วยในคืนดังกล่าวตรงกับดวงจันทร์ขึ้น 3 ค่ำ พื้นที่ที่ทัศนวิสัยท้องฟ้าดียังสามารถชมปรากฏการณ์แสงโลก (Earthshine) ได้อีกด้วย
การเฝ้าชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในครั้งนี้ จุดสังเกตการณ์หลักของ สดร. ทั้ง 4 แห่งที่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หอดูาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา ฟ้าใสเป็นใจ เห็นความสวยงามขณะ “ดวงจันทร์บังดาวศุกร์” ตลอดทั้งปรากฏการณ์ ทั้งขาเข้า และขาออกได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันชาวไทยทั่วประเทศต่างก็ให้ความสนใจติดตามชม และโพสต์ภาพความสวยงามของปรากฏการณ์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์กันอย่างคึกคัก นอกจากนี้ สดร. ยังจัดถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติด้วย มีประชาชนติดตามชมกันเป็นจำนวนมากเช่นกัน
“ดวงจันทร์บังดาวศุกร์” เป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่หาชมยาก เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และนานทีจะสังเกตการณ์ได้ในประเทศไทย ครั้งต่อไปที่สามารถสังเกตได้ในไทย อีก 3 ปีข้างหน้า ในวันที่ 14 กันยายน 2569