น้องยังรออยู่ ! "มีนา" โขลงยังไม่มารับ สัตวแพทย์ยังเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด น้ำหนักชั่งวันนี้ 125 กิโล
31 มี.ค. 2566, 12:51
วันที่ 30 มีนาคม 2566 นางสาวพรรณราย ว่องวัฒนกิจ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ พร้อมด้วยทีมสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) สัตวแพทย์ประจำศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) สัตวบาลประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน ร่วมกันดำเนินการตรวจประเมินสุขภาพลูกช้างป่า “มีนา”
ผลการตรวจประเมินพฤติกรรมโดยรวมมีความร่าเริงดี สามารถนอนหลับได้ พี่เลี้ยงพาออกมาเดินเล่นในช่วงเช้าและเย็นสามารถเดินได้ดี มีความคล่องแคล่ว มีความอยากอาหารดี สามารถดูดกินนมจากขวดนมเองได้ วันนี้ปรับเพิ่มปริมาณนมที่ป้อนต่อครั้งเป็นปริมาณ 1.2 ลิตร ผสมยาน้ำช่วยขับลม และป้อนน้ำผสมผงเกลือแร่เสริม ส่วนตอนกลางคืนประเมินความถี่ในการป้อนนมตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ที่จะไม่รบกวนแผนการส่งคืนลูกช้างหากมีฝูงช้างมาใกล้เคียง (ปริมาณนมรวมที่กินได้ทั้งวัน 11 ลิตรขึ้นไป) ล้างปากด้วยน้ำสะอาดหลังป้อนนมและน้ำเกลือแร่
การขับถ่ายปัสสาวะ โดยรวมขับถ่ายปัสสาวะได้เองปกติเป็นสีเหลืองใส สีเหลืองอ่อนใส วันละ 2 ครั้งขึ้นไป การขับถ่ายอุจจาระ พบว่าสามารถขับถ่ายอุจจาระเป็นก้อนนิ่มได้เอง โดยรวมวันละ 1 ครั้ง
การอักเสบของลูกตาทั้งสองข้างดีขึ้น ยังมีน้ำตาไหลบ้าง เยื่อตาขาวแดงเล็กน้อย สัตวแพทย์ประเมินให้ทำการล้างตาและหยอดตาอย่างต่อเนื่องรอยปิดบริเวณสะดือลูกช้างดีขึ้น ปากสะดือกว้างประมาณ 1 เซรติเมตร มีความลึกประมาณ 0.5 เซนติเมตร พบหนองและเนื้อเยื่อสีขาวในแผลปริมาณเล็กน้อย ไม่มีกลิ่นเหม็น สัตวแพทย์ประเมินให้ทำการล้างสะดือ ขัดเนื้อเยื่อหนองให้สะอาด และใส่ยาฆ่าเชื้ออย่างต่อเนื่อง มีบาดแผลถลอกเล็กน้อยตามร่างกาย ไม่พบบาดแผลรุนแรง ทำการพ่นสเปรย์ยาฆ่าเชื้อต่อเนื่อง
ตรวจช่องปาก พบว่ามีเยื่อเมือกสีชมพูปกติ แผลถลอกในช่องปากบริเวณเพดานบนช่องปากและส่วนใต้ของงวงมีการสร้างเนื้อเยื่อมาทดแทนมากขึ้น เป็นสีชมพู น้ำตาลมากขึ้น สัตวแพทย์ประเมินให้ทำการใช้น้ำสะอาดล้างปากหลังป้อนนมทุกครั้ง เสริมวิตามินซีและแคลเซียมแบบเม็ดให้กินทุกวัน มีสภาวะขาดน้ำเล็กน้อย ปรับเพิ่มปริมาณนมที่ป้อนต่อครั้ง และเพิ่มการป้อนน้ำเกลือแร่ให้ได้รับน้ำมากขึ้นต่อวัน โดยทำการชั่งน้ำหนักตัวลูกช้าง มีน้ำหนัก 125 กิโลกรัม
สรุปการประเมินสุขภาพทั่วไปของลูกช้าง มีความแข็งแรงดี แต่ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังติดตามสุขภาพในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง ดูแลอนุบาลตามแผนที่เหมาะสม เน้นความสำคัญเรื่องไม่ให้ลูกช้างเกิดความเครียด