ปภ.ทดลองตั้งสถาบันการดับเพลิงฯ ยกระดับมาตรฐานด้านการดับเพลิงของประเทศ
4 พ.ค. 2566, 12:34
แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 – 2570 ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดหลักในการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศไทย ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ 1การมุ่งเน้นการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย และยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการและประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านสาธารณภัยเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการสาธารณภัยของประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมกระบวนการจัดการความรู้ด้านสาธารณภัย โดยให้จัดตั้งสถาบันการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย และให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยกำกับควบคุมในการดำเนินการและกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ และมาตรฐานการฝึกอบรมเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้แก่หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคเอกชน ประกอบกับยุทธศาสตร์กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2565 - 2570 ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาระบบบริหารจัดการสาธารณภัยที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน ได้มุ่งเน้นการพัฒนามาตรฐานด้านการบริหารจัดการสาธารณภัยในทุกมิติ โดยเฉพาะการพัฒนามาตรฐานภารกิจด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และการจัดทำมาตรฐานและข้อกำหนดระบบบริหารจัดการสาธารณภัย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จึงได้จัดตั้ง “สถาบันการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย” หรือ สพส. ให้เป็นหน่วยงานภายใน ปภ. เป็นการทดลอง เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรหรือวิชาที่เกี่ยวข้องกับการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย ตลอดจนให้คำแนะนำ คำปรึกษา บริการทางวิชาการ การศึกษาการฝึกอบรม และการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัยให้แก่บุคลากรหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาคเอกชน และประชาชน ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถาบันการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการป้องกันและระงับอัคคีภัย การดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อกำกับดูแลและเสนอแนะแนวทางการจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับสถาบันการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัยที่ ปภ.ได้ทดลองจัดตั้งขึ้น จะเป็นหน่วยงานในการจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกอบด้วย 1) มาตรฐานวิชาชีพ ในสาขาวิชาชีพด้านการดับเพลิงการกู้ชีพ การกู้ภัย และบรรเทาสาธารณภัย และให้การรับรองมาตรฐานวิชาชีพในสาขาดังกล่าวแก่บุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรของสถาบันการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ปฏิบัติงานด้านการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ และ 2) มาตรฐานศูนย์หรือสถานที่ฝึกอบรมมาตรฐานหลักสูตรการฝึกอบรม และมาตรฐาน อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการฝึกอบรมการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย และให้การรับรองแก่หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคเอกชนที่ผ่านข้อหนดมาตรฐานดังกล่าว รวมถึงจัดทำหลักสูตรที่ใช้ในการฝึกอบรมให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านการดับเพลิงและการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และจัดทำทะเบียนศูนย์หรือสถานที่ฝึกอบรม หลักสูตรการฝึกอบรมของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคเอกชนที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน
ทั้งนี้ ปภ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถาบันการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการป้องกันและระงับอัคคีภัย การดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อกำกับดูแลและเสนอแนะแนวทางการจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบันการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ที่ประชุมได้มีมติให้จัดทำมาตรฐานหลักสูตรฝึกอบรมของสถาบันการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) Enclosure Construction Fire (ไฟอาคาร)2) Industrial Fire (ไฟอุตสาหกรรม) 3) Transportations Fire (ไฟจากการขนส่ง) 4) Deep Seat Fire (ไฟไหม้ลึก) 5) Community Fire (ไฟไหม้ชุมชนแออัด) 6) Wild fire (ไฟไหม้ป่า) และแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ หลักสูตรขั้นพื้นฐาน หลักสูตรขั้นปฏิบัติการ และหลักสูตรขั้นเทคนิค
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ดำเนินโครงการศึกษาเพื่อจัดตั้งสถานีฝึกดับเพลิงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ ตำบลคำโตนด อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี โดยให้มีการออกแบบสถานีฝึกดับเพลิงและกู้ภัย ประกอบด้วยอาคารและสถานีฝึกปฏิบัติ ให้มีความสอดคล้องกับหลักสูตรที่กำหนดทั้ง 6 กลุ่ม อาทิ สถานีฝึกการใช้เครื่องช่วยหายใจ สถานีดับเพลิงแฟลชโอเวอร์ บ่อเก็บน้ำ หอถังเก็บน้ำและถังพักน้ำ เป็นต้น
การจัดตั้งสถาบันดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย เป็นไปตามคณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 และวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ได้อนุมัติในหลักการให้มีการจัดตั้งสถาบันหรือศูนย์ฝึกอบรมการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย และให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษา ฝึกอบรม พัฒนาบุคลากรด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาคเอกชน และประชาชนให้มีศักยภาพในการเผชิญเหตุ ระงับ บรรเทา และลดผลกระทบจากการเกิดอัคคีภัย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมุ่งหวังว่า สถาบันการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย (สพส.) ที่ทดลองจัดตั้งขึ้นจะเป็นสถาบันหลักในการให้การศึกษา ฝึกอบรม และพัฒนาบุคลากรด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยเฉพาะในสาขาวิชาชีพด้านการดับเพลิง การกู้ชีพ การกู้ภัย และบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งถือเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการเป็นหน่วยงานหลักในการยกระดับมาตรฐานด้านการดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศต่อไปในอนาคต