กทม.พร้อมรับมือหน้าฝน เตรียมระบบระบายน้ำสร้างความมั่นใจคนกรุง
8 พ.ค. 2566, 16:17
วันนี้ ( 8 พ.ค.66 ) รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสถานีสูบน้ำคลองขุดวัดช่องลม และสถานีสูบน้ำคลองเตย ว่า การบริหารจัดการน้ำปีนี้น่าจะดีขึ้น เริ่มตั้งแต่การเตรียมการล่วงหน้า ในครั้งนี้เราปรับระบบและเพิ่มระบบเยอะขึ้น การพยากรณ์อากาศดีขึ้น การติดตั้งเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำท่วมในผิวถนนเพิ่มขึ้นเพื่อเตือนภัยล่วงหน้า พร้อมทั้งขุดลอกท่อระบายน้ำ ขุดลอกคลอง ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ ทั้งระหว่างทางและปลายทาง ทั้งหมดนี้น่าจะทำให้การระบายน้ำดีขึ้น แต่ต้องขอความร่วมมือประชาชนเหมือนเดิมทุกปีที่ผ่านมา คือ หลีกเลี่ยงการทิ้งขยะลงที่สาธารณะ เพราะขยะเป็นตัวสำคัญที่ทำให้น้ำจากผิวจราจรลงท่อได้ยาก ถ้าพวกเราให้ความร่วมมือกันระบบการระบายน้ำน่าจะเต็มประสิทธิภาพตามที่เตรียมการไว้ อีกเรื่องที่สำคัญคือพื้นที่เอกชน อาทิ ซอยบางนา-ตราด 23 และซอย อสมท. ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังบ่อย เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ กทม. ได้หารือกับเจ้าของพื้นที่ เพื่อให้น้ำระบายเร็วขึ้น สิ่งที่เราทำได้คือช่วยติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บ่อสูบน้ำที่ปากทางและเร่งระบายน้ำออกมาได้เร็วขึ้น แต่เนื่องจากภายในซอยเป็นพื้นที่ต่ำ การแก้ปัญหาด้วยการสูบน้ำเป็นแก้ปัญหาชั่วคราว เรื่องนี้อยู่ระหว่างหารือกับเจ้าของพื้นที่และผู้ประกอบการว่ากทม.จะเข้าไปช่วยเหลือและร่วมกันดำเนินการได้อย่างไร
สำหรับการเตรียมความพร้อมการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงฤดูฝนปี 2566 กทม.ได้ถอดบทเรียนภาพรวมปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 65 ที่ผ่านมา พบว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีปัญหาน้ำท่วม รวม 737 จุด แบ่งเป็น ปัญหาน้ำท่วมจากน้ำเหนือน้ำหนุน 120 จุด และปัญหาน้ำท่วมจากน้ำฝน 617 จุด ในปีนี้กทม. โดย สำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการแก้ปัญหาจากน้ำเหนือน้ำหนุน 120 จุด ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ 29 จุด ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้ 41 จุด(ได้รับงบประมาณแล้ว) อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ 31 จุด และอยู่ระหว่างประสานเอกชนและหน่วยงานราชการ 19 จุด โดยมีมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนในการรับมือน้ำเหนือและน้ำหนุน โดยทำการเรียงกระสอบทราย 68 จุด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 จุด สร้างรางระบายน้ำ 1 จุด ปรับปรุงคันดิน (JET MIX) 18 จุด ปรับปรุงบ่อสูบน้ำ 1 จุด ปรับปรุงบ่อสูบน้ำ+JET MIX 1 จุด ยังไม่ได้รับความยินยอม 1 จุด
ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังจากน้ำฝน 617 จุด แบ่งเป็นการแก้ไขปัญหาของสำนักระบายน้ำ 144 จุด แก้ไขแล้วเสร็จ 61 จุด แก้ไขแล้วเสร็จภายในปีนี้ 40 จุด (ได้รับงบประมาณแล้ว) อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ 43 จุด และการแก้ไขปัญหาของสำนักงานเขต 473 จุด เขตอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง 21 จุด เขตได้รับงบแล้ว 79 จุด เขตจะขอจัดสรรงบประมาณอีก 69 จุด อยู่ในโครงการของสำนักการระบายน้ำ 68 จุด อยู่ในโครงการของสำนักการโยธา 3 จุด ถนนส่วนบุคคล 24 จุด อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ 209 จุด โดยมีมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 224 จุด ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 40 จุด เรียงกระสอบทราย 97 จุด ขุดลอกคลอง 17 จุด เสริมผิวจราจร 24 จุด
จากการถอดบทเรียนพื้นที่สุขุมวิทฝั่งซอยเลขคี่และเลขคู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชั้นในและพบปัญหาน้ำท่วมขัง โดยพื้นที่เขตสุขุมวิทเลขคู่ มีปัญหาน้ำท่วมขังจากน้ำฝน 30 จุด สำหรับมาตรการชั่วคราวเร่งด่วน ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเรียงกระสอบทรายป้องกันน้ำล้นจากคลองเข้าท่วมถนน ส่วนโครงการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร มีแผนดำเนินโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำคลองเตยก่อสร้างระบบระบายน้ำ (Pipe Jacking) บริเวณถนนสุขุมวิท 21,39 ปรับปรุงบ่อสูบน้ำสุขุมวิท 40 ก่อสร้างท่อลอดถนนสุขุมวิท บริเวณแยกบางนา ขุดลอกคูน้ำหน้าวัดศรีเอี่ยม จากถนนบางนาถึงคลองเคล็ด
ส่วนพื้นที่เขตสุขุมวิทเลขคี่ มีปัญหาน้ำท่วมขังจากน้ำฝน 41 จุด มีโครงการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร อาทิ บริเวณซอยลาซาล จากถนนสุขุมวิทถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม บริเวณถนนสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนา ก่อสร้างท่อลอดถนนสุขุมวิท บริเวณแยกบางนา ขุดลอกคูน้ำหน้าวัดศรีเอี่ยม จากถนนบางนาถึงคลองเคล็ด โดยที่ผ่านมาได้ทำการปรับปรุงบ่อสูบน้ำสุขุมวิท 40 เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบายในถนนสุขุมวิทและถนนเอกมัย ซึ่งเป็นจุดเฝ้าระวังของสำนักการระบายน้ำ โดยการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพบ่อสูบน้ำเดิมขนาด 5.0 ลบ.ม/วินาที ให้มีกำลังสูบระบายน้ำเพิ่มมากขึ้นเป็น 8.00 ลบ.ม./วินาที ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 65
พร้อมกันนี้ได้ทำการปรับปรุงระบบระบายน้ำถนนพระรามที่ 4 ถนนเกษมราษฎร์ ตอนลงคลองหัวลำโพง โดยก่อสร้างบ่อสูบน้ำ ขนาด 3.00 ลบ.ม./วินาที จำนวน 1 บ่อ ก่อสร้างท่อลอด ค.ส.ล. (ด้วยวิธีดัน) ขนาด 0 1.20 ม. ยาวประมาณ 409 เมตร ก่อสร้างบ่อดันท่อ จำนวน 1 บ่อ ก่อสร้างบ่อรับท่อดัน จำนวน 1 บ่อ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดไฟฟ้าขนาด 1.00 ลบ. ม./วินาที จำนวน 3 เครื่อง ผลงานที่ทำได้ 45% (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. 66) คาดว่าจะแล้วเสร็จ มิ.ย.66
สำหรับความคืบหน้าการขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ความยาวท่อระบายน้ำทั้งหมด 6,441 กม. ในปี 2565 ขุดลอก 3,356.9 กม. ส่วนปี 2566 มีแผนขุดลอก 3,758.5 กม. ขุดลอกแล้ว 1,948.1 กม. (51.83%) แบ่งเป็น แรงงาน/รถดูดเลน 781.5 กม. จ้างเหมากรมราชทัณฑ์ 1,055.9 กม. จ้างเหมาเอกชน 110.7 กม. และอยู่ระหว่างดำเนินการ 1,810.4 กม. (48.17%) คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน มิ.ย.66 ส่วนการขุดลอกคลองเพื่อรองรับฤดูฝน กรุงเทพมหานครมีคลอง 1,980 คลอง ความยาว 2,744,923 เมตร ในปี 2565 ดำเนินการลอกคลอง 67 คลอง ความยาว 132,747 เมตร ปี 2566 มีแผนลอกคลอง 182 คลอง ความยาว 202,704 เมตร ปัจจุบันผลงานที่ทำได้ 142,000 เมตร (70%) คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน มิ.ย.66
ด้านการบำรุงรักษาสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำประจำปี 2566 จำนวน 430 แห่ง ประกอบด้วย สถานีสูบน้ำ 188 แห่ง และประตูระบายน้ำ 242 แห่ง ทำการตรวจเช็คระบบไฟฟ้า เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ ระบบน้ำมันหล่อลื่น การทำความสะอาด ทาสี เครื่องมืออุปกรณ์ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 409 แห่ง เหลือ 21 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน มิ.ย.66
โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กรุงเทพฯ มีอุโมงค์ระบายน้ำทั้งสิ้น 12 แห่ง ก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.อุโมงค์ประชาราษฎร์ สาย 2 แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ เขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง 2. อุโมงค์บึงมักกะสัน แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ เขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และดินแดง 3. อุโมงค์คลองแสนแสบแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และลาดพร้าว 4. อุโมงค์คลองบางซื่อ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และดุสิต ซึ่งอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง ดำเนินการบำรุงรักษาแล้วเสร็จ 3 แห่ง ประกอบด้วย เก็บขยะ ตะกอนตกค้าง ได้ประมาณ 55 ตัน (มักกะสัน 14.5 ตัน พระโขนง 40 ตัน) ตรวจสอบความเสียหาย การทรุดตัวขององค์ประกอบอุโมงค์ ซ่อมแซมและหาแนวทางแก้ไข เช่น ซ่อมแซมเหล็กปิดรอยต่อ ตรวจสอบซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เช่น ตรวจสอบหม้อแปลง ตู้ควบคุมไฟฟ้า ใบพัดเครื่องสูบน้ำ เก็บขยะ ตะกอน ตรวจสอบโครงสร้าง ตรวจสอบซ่อมบำรุงงานไฟฟ้าเครื่องกล โดยอยู่ระหว่างดำเนินการ 1 แห่ง ที่อุโมงค์บางชื่อ จะแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือน พ.ค. 66
ทั้งนี้ อุโมงค์ระบายน้ำที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย 1. อุโมงค์หนองบอน 2. อุโมงค์คลองเปรมประชากร 3. อุโมงค์คลองแสนแสบส่วนต่อขยาย 4. อุโมงค์คลองทวีวัฒนา และอุโมงค์ระบายน้ำที่จะก่อสร้างในอนาคต จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย 1. อุโมงค์คลองพระยาราชมนตรี 2. อุโมงค์คลองบางซื่อส่วนต่อขยาย 3. อุโมงค์ถนนพิษณุโลก 4. อุโมงค์คลองประเวศ
สำหรับผลการซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำดีเซลและบ่อสูบน้ำประจำปี 2566 สำนักการระบายน้ำ ตรวจสอบบ่อสูบน้ำทั้งหมด 482 แห่ง แล้วเสร็จ และตรวจเครื่องสูบน้ำดีเซลที่สนับสนุนสำนักงานเขตทั้งหมด 183 เครื่องแล้วเสร็จ สำนักงานเขตมีเครื่องสูบน้ำดีเซลทั้งหมด 397 เครื่อง ตรวจสอบแล้ว 361 เครื่อง เหลือ 36 เครื่อง คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน พ.ค.66
ด้านการปรับปรุงสถานีสูบน้ำคลองเตย กรุงเทพมหานครได้รับมอบจากกรมชลประทานและเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2532 เดิมมีเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง กำลังสูบรวม 30 ลบ.ม./วินาที มีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี โครงสร้างสถานีเสียหาย เครื่องสูบน้ำใช้การไม่ได้หลายเครื่องที่ใช้ได้ก็มีประสิทธิภาพลดลงมากกว่า 50% เครื่องเก็บขยะอัตโนมัติมีสภาพชำรุดบ่อย ต้องใช้กำลังคนในการจัดเก็บขยะในช่วงฤดูฝน มีขยะประมาณ 6 ตัน/วัน
สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการปรับปรุง ในช่วงปี พ.ศ.2564 -2566 เพื่อปรับปรุงสถานีสูบน้ำคลองเตยให้มีประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อรองรับน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจโดยเฉพาะถนนสุขุมวิทฝั่งใต้ พื้นที่รับน้ำประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร โดยเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำใหม่ 10 เครื่องและติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 2 เครื่อง รวมอัตราการสูบน้ำรวม 36 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เปลี่ยนเครื่องเก็บขยะอัตโนมัติใหม่ 5 เครื่อง ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองจำนวน 3 เครื่อง ซึ่งสามารถใช้เดินเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรในช่วงไฟฟ้าขัดข้อง รวมถึงยังได้มีการนำเทคโนโลยีระบบ SCADA มาใช้สั่งการทำงานของเครื่องสูบน้ำและเครื่องเก็บขยะอัตโนมัติ เพื่อลดกำลังจำนวนบุคลากรที่ใช้ในการปฏิบัติงาน ปัจจุบันโครงการฯ ดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถใช้งานสถานีคลองเตยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตคลองเตย และถนนสุขุมวิทฝั่งใต้(เลขคู่) ตั้งแต่สุขุมวิท 22 ถึงสุขุมวิท 48 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงฤดูฝนปี 66
พร้อมกันนี้จะพัฒนาระบบพยากรณ์และการตรวจกลุ่มฝน ด้วยระบบพยากรณ์ Al-Nowcasting ซึ่งสามารถให้ข้อมูลการคาดการณ์ฝนล่วงหน้าได้ 3 ชั่วโมง นอกจากนี้มี การติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดสภาพอากาศ กล้องเพื่อดูสภาพอากาศและกลุ่มเมฆ จำนวน 6 แห่งและติดตั้ง จำนวน 3 แห่ง ดำเนินการติดตั้งเสร็จแล้วที่ อาคารสำนักการระบายน้ำ ประตูระบายน้ำหลวงแพ่ง และประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา คงเหลือที่ประตูระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี อาคารศูนย์ป้องกันน้ำท่วมหนองบอน และอาคารสำนักงานเขตลาดพร้าว รวมทั้งติดตั้ง eagle radar (เรดาร์ชนิด X band) จำนวน 1 สถานี ที่อาคารศูนย์ป้องกันน้ำท่วมหนองบอน เพิ่มจากของกรุงเทพมหานคร ที่มีอยู่ 2 สถานี (เรดาร์ชนิด C band) จากการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้น จะทำให้ได้ข้อมูลการคาดการณ์ฝนที่มีความละเอียดมากขึ้น เนื่องจากมีการนำเข้าข้อมูลสภาพอากาศเข้ามาร่วมวิเคราะห์ ทำให้สามารถตรวจวัดฝนได้แม่นยำขึ้น
นอกจากนี้ได้พัฒนาระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนน โดยมีการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดน้ำท่วมบนถนนและอุโมงค์ทางลอดรวมทั้งสิ้น 108 แห่ง และจะมีการพัฒนาระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนนเพิ่มอีก 140 แห่ง โดยจะติดตั้งตามพื้นที่ทั้ง 50 เขต ที่มีการถอดบทเรียนในจุดเสี่ยงน้ำท่วมต่างๆ รวมทั้งการพัฒนา Platform แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร มีการพัฒนาการแสดงผลแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม โดยประชาชนจะสามารถเข้าดูจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมรวมถึงจุดเสี่ยงภัยจากน้ำเหนือและน้ำหนุน แสดงวิธีการดำเนินการและแนวทางการแก้ไขจากการที่มีการถอดบทเรียนน้ำท่วม 2565 รวมถึงมีการเชื่อมกล้อง CCTV เข้ามาไว้บน Platform แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมด้วย