ครม. รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ 31 มี.ค. 66 อยู่ที่ร้อยละ 61.30 ความน่าเชื่อถือของไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ
31 พ.ค. 2566, 08:44
วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจริงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกําหนดไว้
ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีวานนี้ (วันที่ 30 พฤษภาคม 2566) รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ 31 มีนาคม 2566 กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตาม มาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รายละเอียด ดังนี้
1. สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) กรอบที่คณะกรรมการกำหนด ไม่เกินร้อยละ 70 สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง ร้อยละ 61.30
1.1 หนี้สาธรณะ จำนวน 10,797,505.46 ล้านบาท
1.2 ผลิคภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จำนวน 17,615,169.00 ล้านบาท
2. สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ กรอบที่คณะกรรมการกำหนด ไม่เกินร้อยละ 35 สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง ร้อยละ 30.91
2.1 ภาระหนี้รัฐบาล จำนวน 805,677.79 ล้านบาท
2.2 ประมาณการรายได้ประจำปีประมาณ จำนวน 2,606,589.21 ล้านบาท
3. สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด กรอบที่คณะกรรมการกำหนด ไม่เกินร้อยละ 10 สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง ร้อยละ 1.63
3.1 หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศ จำนวน 175,590.96 ล้านบาท
3.2 หนี้สาธารณะทั้งหมด จำนวน 10,797,505.46 ล้านบาท
4. สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ กรอบที่คณะกรรมการกำหนด ไม่เกินร้อยละ 5 สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง ร้อยละ 0.05
4.1 ภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศ จำนวน 5,943.86 ล้านบาท
4.2 รายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ จำนวน 11,882,174.88 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในภาวะปกติ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในการลงทุน โดยกว่าร้อยละ 75 ของเงินกู้เป็นการกู้เพื่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ อาทิ การคมนาคมขนส่ง พลังงาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ การศึกษา และที่อยู่อาศัย โดยหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2562 ก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 อยู่ที่ร้อยละ 41.06 ต่อ GDP และเมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและประชาชนทั่วประเทศ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกู้เงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนและทุกภาคส่วนตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร่งด่วน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการของรัฐบาลทั่วโลก ส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 61.30
ที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถบริหารหนี้สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีต้นทุนที่เหมาะสมและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ อีกทั้งหนี้กว่าร้อยละ 98 เป็นหนี้สกุลเงินบาทจึงช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ รัฐบาลได้ชำระคืนหนี้ก่อนครบกำหนด (Pre-funding) เมื่ออัตราดอกเบี้ยเหมาะสม รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดการกระจุกตัวของภาระหนี้ ยืดอายุหนี้ และลดความเสี่ยงด้านการอัตราดอกเบี้ย โดยหากอัตราดอกเบี้ยมีทิศทางปรับตัวลดลง ก็ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยลดต้นทุนเฉลี่ยของหนี้สาธารณะ รวมถึงสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น กระทรวงการคลังได้ทำการแปลงหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวให้เป็นดอกเบี้ยคงที่ ทำให้หนี้กว่าร้อยละ 85 เป็นหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการชำระหนี้โดยได้เพิ่มงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย อีกทั้งยังได้เร่งการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และเมื่อรัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะสามารถนำมาชำระหนี้ได้เพิ่มขึ้น
ขณะที่ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อระดับสากลยังคงอันดับความน่าเชื่อของประเทศไทยที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยเชื่อมั่นว่าภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่ง อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และรัฐบาลยังมีพื้นที่ทางการคลังที่สามารถรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคตได้ ขณะที่บทวิเคราะห์ของ บริษัท ฟิทช์ เรตติ้ง (Fitch Ratings) มองสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านการเมืองและการคลังภายหลังจากการเลือกตั้ง อาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระยะสั้น เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบายของประเทศ ความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2567 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากจากการดำเนินมาตรการตามนโยบายในช่วงหาเสียง และความสามารถในการรักษาเสถียรภาพของสัดส่วนหนี้ภาครัฐ อย่างไรก็ตาม อันดับความน่าเชื่อถือของไทยยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานะทางการเงินต่างประเทศที่แข็งแกร่ง กรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีประสิทธิภาพ การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นสำคัญ