"เจ้าของเชียงกง" ยันมีหลักฐานวงจรปิด จนท.ท้องถิ่นขนเสาไฟสับปะรด ใส่รถหลวงไปขาย ล่าสุดขนเสากลับแล้ว
9 ก.ค. 2566, 11:18
วันที่ 8 กรกฎาคม 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่น ( อปท.) แห่งหนึ่ง นำรถกระเช้าสีส้มบรรทุกซากเสาไฟเหล็กเคลือบไปจำหน่ายที่“ แก้วสุวรรณรีไซเคิล” ถนนสุขสมบูรณ์ ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ขณะที่สำนักงานโยธาธิการจังหวัดประจวบฯ จะทำการตรวจสอบเพื่อหาหน่วยงานเจ้าของงบประมาณที่จัดซื้อและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องที่นำเสาไฟไปจำหน่ายในร้านรับซื้อของเก่า เนื่องจากที่ผ่านมาเสาไฟทั้งหมดมีราคารวมค่าติดตั้งต้นละ 8 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท มีมากกว่า 200 ต้นที่สันเขื่อนริมอ่าวประจวบฯ ตั้งแต่หน้ารั้วกองบิน 5 ถึงค่ายลูกเสือตาม่องล่าย ระยะทาง 8 กิโลเมตร ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์
คืบหน้าล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปร้านรับซื้อของเก่าดังกล่าว และสอบถามเจ้าของร้านถึงความเป็นมา โดยเจ้าของร้านแจ้งให้สื่อมวลชนไปสอบถามจากหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ที่นำเสาไฟมาขาย จากนั้นขอให้กลับมาสัมภาษณ์ตนภายหลัง แต่สามารถให้ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า เสาโคมไฟสับปะรดดังกล่าวมีรถกระเช้าสีส้มของเทศบาลบรรทุกนำมาขายเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยเข้าใจว่าหน่วยงานต้นสังกัดรับทราบ ยินยอมให้นำเอามาขาย
เจ้าของแก้วสุวรรณรีไซเคิล กล่าวว่า หลังจากมีการนำเสนอข่าว วันนี้มีเจ้าหน้าที่กลุ่มเดิมพร้อมรถกระเช้าสีส้มคันเดิม กลับมาขอเสาไฟพร้อมคืนเงิน 1,000 บาท โดยอ้างว่าลูกพี่ให้มาขอเอากลับคืนไปก่อน ซึ่งตนก็ไม่ขัดข้อง เนื่องจากรับซื้อตามปกติโดยไม่ทราบการได้มาลูกค้า ขณะที่ทางร้านมีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพทั้งหมดเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อความโปร่งใสสามารถยืนยันไว้ว่ามีบุคคลใดและรถของทางราชการคันไหนนำเสาไฟมาขาย
นายนิพนธ์ สุวรรณนาวา รองประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดประจวบฯกล่าวว่า เจ้าของร้านรับซื้อของเก่าเป็นญาติสนิทกับตน ยืนยันว่าไม่มีเจตนาทำผิดกฎหมาย จึงให้เก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ทั้งหมด ซึ่งทราบว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดนำเสาไฟไปขาย และขอไปเอาเสากลับคืน ซึ่งเป็นความผิดสำเร็จ และเนื่องจากเรื่องนี้มีการเสนอข่าวเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป ทำให้หน่วยงานที่ใช้งบจัดซื้อจะต้องรีบออกมารับผิดชอบ
จ่าอากาศเอกเสกสรรค์ จันทร แกนนำเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เสาไฟเก่าที่ถูกนำมาขายน่าจะยาวประมาณ 6 เมตรราคาต้นละ 1 แสนบาท ไม่ใช่เสาไฟสูง 4 เมตร ที่ถูกสนิมกัดกร่อนหักโค่นที่สันเขื่อนสร้างจากงบ 6 ล้านของสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา สำหรับเสาไฟยาว 6 เมตร จะติดตั้งบนพื้นตั้งแต่สะพานคลองบางนางรมถึงค่ายลูกเสือม่องล่ายเป็นงบของโยธาธิการจังหวัด ปัจจุบันระบบไฟไม่สามารถใช้การได้ บางจุดมีไฟช๊อตประชาชน และนักท่องเที่ยว นอกจากนี้บางจุดมีการชำรุดถาวรเนื่องจากมีการลักตัดสายไฟฟ้าไปขาย“ หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งต้องชี้แจงว่า 10 ปีที่ผ่านมาใช้งบรวมกี่สิบล้าน เนื่องจากปัจจุบันโคมไฟสับปะรดมี 3 รูปแบบ ปัจจุบันเหลือเสาไฟกี่ต้น เสาที่ชำรุดนำไปเก็บไว้ที่ไหน และต้องชี้แจงกับประชาชนว่ามีงบสร้างแต่ทำไม่มีงบซ่อม หลังจากสายไฟฟ้าสูญหาย หรือสร้างเสร็จแล้วในช่วงแรกเหตุใดไม่โอนทรัพย์สินให้เทศบาลเมืองประจวบฯดูแลบำรุงรักษา สำหรับเสาไฟที่ลูกจ้างของเทศบาลแห่งหนึ่งนำไปขาย หน่วยงานเจ้าของงบจะต้องรับผิดชอบโดยเร็ว แม้ว่าเสาชำรุดก็ต้องปกป้องทรัพย์สินของทางราชการที่จัดซื้อจากเงินภาษีของประชาชน และจะต้องไปหาให้เจอว่าเจ้าหน้าที่นำเสาไฟขึ้นรถของทางราชการแล้วเอาของกลางไปแอบไว้ที่ไหน วันนี้วันหยุดใครอนุมัติให้เอารถราชการมาเก็บเสาไฟจากร้านของเก่า ” จ่าอากาศเอกเสกสรรค์ กล่าว และว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่ายังมีเสาไฟสับปะรดอีกจำนวนมาก ถูกนำมาขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า โดยหน่วยงานเจ้าของงบไม่สนใจ///////////////////