รองโฆษกฯ เผย! ไทยติดอันดับที่ 8 ของประเทศที่ดูแลสิทธิมนุษยชนของเด็กได้ดี ประจำปี 2566
14 ก.ค. 2566, 09:07
วันนี้ (14 กรกฎาคม 2566) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 8 ของประเทศที่ดูแลสิทธิมนุษยชนของเด็กได้ดี ประจำปี 2566 ( The KidsRights Index 2023) จากการทำดัชนีสิทธิเด็กของมูลนิธิเด็กระหว่างประเทศ (KidsRights) (https://www.kidsrights.org/research/kidsrights-index/) ซึ่งได้จัดอันดับประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมดที่ได้ให้การรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ จากทั้งหมด 193 ประเทศทั่วโลก มาวิเคราะห์และจัดอันดับตามเกณฑ์ที่กำหนด
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รายงานการจัดอันดับดังกล่าวเป็นผลสำรวจต่อเนื่องประจำทุกปี มีเกณฑ์การให้คะแนน จาก 5 ดัชนีหลัก ได้แก่ 1. สิทธิด้านสุขภาพ (Right to Health) 2. สิทธิในการดำรงชีวิต (Right to Life) 3. สิทธิในการศึกษา (Right to Education) 4. สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง (Right to Protection) และ 5. การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสิทธิเด็ก (Enabling Environment for Child Rights) รวมทั้งรวบรวมข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และคณะกรรมสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (The Committee on the Rights of the Child) ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 8 จากผลรวมคะแนนในแต่ละดัชนี ดังนี้ 1) สิทธิด้านสุขภาพ อยู่ในอันดับที่ 64 ได้คะแนน 0.941 คะแนน 2) สิทธิในการดำรงชีวิต อยู่ในอันดับที่ 44 - 45 ได้คะแนน 0.898 คะแนน 3) สิทธิในการศึกษา อยู่ในอันดับที่ 37 ได้คะแนน 0.840 คะแนน 4) สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง อยู่ในอันดับที่ 69 ได้คะแนน 0.916 คะแนน และ 5) การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสิทธิเด็ก อยู่ในอันดับที่ 1 ได้คะแนน 0.833 คะแนน ขณะที่ 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่ สวีเดน ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เยอรมนี กรีซ เดนมาร์ก ไทย นอร์เวย์ และสโลวีเนีย ตามลำดับ
สำหรับผลคะแนนดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียที่ติด 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก สะท้อนผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลที่เน้นย้ำความสำคัญของสิทธิเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงระบบการดูแลอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ โดยเฉพาะด้านการดูแลและด้านการศึกษาให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย เช่น การจัดสวัสดิการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โครงการอาหารกลางวัน โครงการเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน รวมทั้งการส่งเสริมคุณภาพด้านปฐมวัย ผ่านการใช้พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 เป็นต้น สอดคล้องกับการที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 (Convention on the Rights of the Child) ซึ่งกำหนดให้เด็กทุกคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้รับการคุ้มครองในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยมีหลักการสำคัญ คือ การไม่เลือกปฏิบัติและถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง ซึ่งประกอบด้วยสิทธิของเด็ก 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิในการอยู่รอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม
“นายกรัฐมนตรีขอบคุณความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนที่ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต โดยผลสำเร็จจากการจัดอันดับดังกล่าวช่วยสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากทั่วโลกในเรื่องการดูแลสิทธิเด็กของไทย ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมส่งมอบแนวนโยบายที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงสิทธิเด็กและเยาวชนที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิดเป็นสำคัญ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต สร้างรากฐานการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน” นางสาวรัชดาฯ กล่าว