รวมใจคนไทยไม่ทิ้งกันโครงการแสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดกาญจนบุรี
18 ก.ค. 2566, 17:24
วันนี้ 18 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดกาญจนบุรี นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี มอบหมายให้ นพ.กำพล พฤกษาอุดมชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมะการักษ์ ร่วมรายการ NBT Central รวมใจคนไทยไม่ทิ้งกัน กับคุณพิษณุสรณ์ ยางสูง ผู้ประกาศข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดกาญจนบุรี ให้สัมภาษณ์ประเด็นการจัดงานโครงการแสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดกาญจนบุรี หัวข้อ “คนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนไทยไร้สโตรค (No STROKE for all Thais by NEW GEN)” โดยมี นายอภิสิทธิ์ จันทร์เต็ม ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดกาญจนบุรี และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ ซึ่งโครงการ“เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต” เป็นกิจกรรมที่รวมใจ รวมพลังเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมาออกกำลังกาย มีการให้ความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมองและการออกกำลังกายเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ “แผ่นดินไทย ไร้สโตรค”
โดยในปีนี้มีการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่ม NEW GEN เพิ่มขึ้นมาและจังหวัดกาญจนบุรีเพิ่มจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้นเป็น 2,000 คน จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวกาญจนบุรีและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งผู้ที่สนใจ มาร่วมกิจกรรมดังกล่าวในวันที่ 29 ตุลาคม 2566 สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการฯได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ผ่านทาง รูปแบบ Online ผ่านแอปพลิเคชั่น THAIRUN (https://race.thai.run/) ค่าสมัคร 360 บาท (ไม่รวมค่าจัดส่งทางไปรษณีย์และค่าธรรมเนียมการชำระเงินของธนาคาร) ผู้สมัครจะได้รับเสื้อที่ระลึกพร้อมเลขวิ่ง บิบและเหรียญรางวัลเมื่อเข้าเส้นชัย การออกกำลังกายเป็นการดูแลส่งเสริมสุขภาพที่ดี และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง นอกจากจะได้สุขภาพที่ดีแล้ว ยังช่วยป้องกันภาวะโรคหลอดเลือดสมอง (STROKE) ป้องกันไม่ให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้อีกด้วยครับ
นพ.กำพล พฤกษาอุดมชัย กล่าวต่อไปว่า ภาวะโรคหลอดเลือดสมอง (STROKE) คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดมีความผิดปกติ ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลายและการทำงานของสมองหยุดชะงัก ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาการร้ายแรงที่อาจส่งผลให้กลายเป็นโรคอัมพฤกษ์ - อัมพาตหรืออาจอันตรายถึงชีวิตได้ ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะพบโรคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าประชาชนขาดความรู้ด้านการป้องกันหรือรักษาอย่างถูกวิธี
สาเหตุโรคหลอดเลือดสมองและการป้องกัน ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้แก่
1. ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ควรควบคุม ความดันโลหิตให้น้อยกว่า 140/90 mmHg โดยเฉพาะผู้เป็นเบาหวาน หรือเป็นโรคไตวายเรื้อรัง
2. โรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลก่อนอาหารให้อยู่ระหว่าง 80 – 130 mg/dl หรือน้ำตาลสะสม (HbA1C) ให้น้อยกว่า 7 เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดในร่างกาย
3. คอเลสเตอรอลในเลือดสูง การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง จะทำให้ร่างกายมีค่าไขมันไม่ดี (LDL) ในเลือดสูงซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
4. โรคอ้วน ควรควบคุมน้ำหนักให้มีค่าดัชนีมวลกาย(BMI) อยู่ในช่วง 18.5-25 ซึ่งคำนวณโดยวัดน้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง
5. การขาดการออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 3 - 4 ครั้ง/ สัปดาห์
-2-
6. การสูบบุหรี่จัดและการดื่มสุราเป็นประจำ จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
7. การใช้สารเสพติด
8. ผู้ที่มีประวัติหยุดหายใจขณะนอนหลับตอนกลางคืน ซึ่งพบได้บ่อยในคนที่นอนกรนดังๆ หรือมีน้ำหนักตัวมากๆ ถ้าออกซิเจนในเลือดต่ำในช่วงนอนหลับ เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตามมาได้
9. หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองบริเวณคอตีบ พบในผู้ที่มีอายุมาก มีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเช่น เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่
10. หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือมีลิ้นหัวใจผิดปกติ สามารถทำให้เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดเลือดสมองได้ สามารถตรวจคัดกรองได้โดยการตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือการตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง
11. นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถป้องกันได้ เช่นผู้สูงอายุ เนื่องมาจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือด โดยเพศชาย พบอุบัติการณ์การเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าเพศหญิง ผู้มีประวัติโรคหลอดเลือดสมองในครอบครัว หรือมีประวัติเคยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน
สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง ที่เราสามารถสังเกตได้หลักๆ มี 5 อย่างที่สำคัญ ดังนี้
1. ชาหรืออ่อนแรงใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งอย่างฉับพลัน ทำให้มุมปากตก ปากเบี้ยว อมน้ำไม่อยู่ น้ำไหลออกจากมุมปาก
2. ชาหรืออ่อนแรงที่แขนขาซีกใดซีกหนึ่งอย่างฉับพลัน สูญเสียการทรงตัว
3. พูดไม่ชัด พูดไม่ออก สับสน นึกคำพูดไม่ออก
4. การมองเห็นมีปัญหาฉับพลัน อาจมองเห็นภาพซ้อน มองเห็นภาพครึ่งเดียว
5. มีอาการปวดศีรษะรุนแรงฉับพลัน
สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่ามีโอกาสเกิดโรคอัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมอง ประกอบด้วยตัวย่อFASTดังนี้
- F : Face คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท
- Arm คือ อาการอ่อนแรงของแขนขาซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
- Speech คือ พูดลำบากพูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง
- Time คือเวลา ซึ่งทุกนาทีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ล่าช้า จะมีผลกระทบต่อการตายของเซลล์สมองถึง 2 ล้านเซลล์
อาการ 5 สัญญาณเตือนดังกล่าว อาจเกิดเพียงอาการเดียวหรือหลายอาการร่วมกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่สูญเสียหน้าที่ไป บางรายอาจมีอาการผิดปกติเหล่านี้ชั่วขณะแล้วดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากสมองขาดเลือดชั่วคราว (Mini Stroke) แต่อย่างไรหากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ควรรอดูอาการแต่ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะหากผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลได้เร็ว จะสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันการณ์ ลดความเสี่ยงต่อความพิการและเสียชีวิตได้