เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ชาวบ้านกาฬสินธุ์ แจ้งจับกลุ่มผู้มีอิทธิพลบุกรุกป่าสงวนกว่า 1,000 ไร่


12 ส.ค. 2566, 13:55



ชาวบ้านกาฬสินธุ์ แจ้งจับกลุ่มผู้มีอิทธิพลบุกรุกป่าสงวนกว่า 1,000 ไร่




น.ส.ปฐมาภรณ์ มงคลสินธุ์ พร้อมด้วย ดร.สมยงค์ แก้วสุพรรณ ที่ปรึกษา ดร.อวยชัย วะทา ประธานเครือข่ายป.ป.ช.ภาคประชาสังคมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายสมัชชาเกษตรกรภาคอีสานกว่า 50 คน ได้ยกขบวนเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พ.ต.อ.อิทธิเดช สุนทร ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์ ให้ดำเนินคดีกับผู้มีอิทธิพล ชาวบ้านและข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาตินาจารย์ดงขวางและบุกรุกที่ดินทำกินของสมาชิกสมัชชาเกษตรกรภาคอีสานกว่า 900 ไร่ โดยได้ประชุมรับทราบข้อมูลพยานหลักฐานที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ สภ.เมืองกาฬสินธุ์




น.ส.ปฐมาภรณ์ มงคลสินธุ์ แจ้งข้อมูลว่าพื้นที่ป่านาจารย์ดงขวางมีเกษตรกรประมาณ 600 ครอบครัวเข้า ไปอยู่อาศัยและทำการเกษตรตั้งแต่ปี 2468 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ต่อมาในปี 2507 ได้มีการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ 12,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอเมือง อำเภอสมเด็จ อำเภอนามน และอำเภอสหัสขันธ์ และในปี 2518 ได้มีการยกพื้นที่ให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ปลูกสร้างสวนสมเด็จทั้งหมด ทำให้เกษตรกรที่ทำกินอยู่เดิมได้รับความเดือดร้อนไร้ที่ทำกิน จึงเข้าร้องเรียนต่อรัฐบาลในฐานะสมาชิกเครือข่ายสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน เมื่อปี 2536 มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับกระทรวง จนได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2558 ให้คืนสิทธิ์แก่เกษตรกรชุดแรก 94 รายพื้นที่ 1,042 ไร่ จนกระทั่งกระบวนรังวัดจัดแปลงเสร็จสิ้นในปี 2564 โดยกรมป่าไม้ได้มอบอำนาจให้จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นผู้รับผิดชอบในกระบวนการดำเนินการดังกล่าว และนายศุภศิษย์ กอเจริญยศได้ทำพิธีมอบเอกสารสิทธิ์ให้แก่เกษตรกรสมาชิกเครือข่ายสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลนาจารย์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์

 

 


ดร.อวยชัย วะทา ประธานเครือข่ายสมัชชาเกษตรภาคอีสานและประธานเครือข่ายป.ป.ช.ภาคประชาสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมามีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่บุกรุกป่านาจารย์ดงขวางและสวนป่านาจารย์เข้าครอบครองทำการเกษตรและให้ชาวบ้านเช่าหลายจุดกว่า 1,000 ไร่ เมื่อมีผู้แจ้งเจ้าหน้าที่สวนป่าและหน่วยปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกป่าในพื้นที่ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติ มีการปล่อยให้มีการบุกรุกนำพื้นที่ไปให้เช่าแก่ชาวบ้านกว่า 86 รายเข้าปลูกมัน ปลูกอ้อยและพืชผลการเกษตรอื่นๆอย่างเปิดเผยตั้งแต่ปี 2561 และได้ทำลายหมุดหมายและเสาหลักแสดงแนวเขตทิ้ง จนกระทั่งในปี 2565-ปัจจุบัน

เมื่อเครือข่ายสมัชชาเกษตรกรภาคอีสานและสมาชิกผู้ได้รับเอกสารสิทธิ์ จะเข้าพื้นที่ทำการเพาะปลูกและเกรดไถเพื่อจัดตั้งศูนย์สาธิตสหกรณ์การเกษตรศาสตร์พระราชาจังหวัดกาฬสินธุ์และปลูกป่าชุมชน ก็ได้ถูกกลุ่มบุคคลกว่า 10-20 คน พร้อมด้วยอาวุธมีดไม้และเครื่องจักกลการเกษตรเข้าขัดขวางและข่มขู่คุกคามอาฆาตมาดร้ายมุ่งหมายเอาชีวิต หลายครั้งหลายจุด นอกจากนั้นระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566 มีการลักลอบตัดไม้ประดู่และไม้พยุง 31 ต้น เมื่อแกนนำเครือข่ายสมัชชาเกษตรกรภาคอีสานได้เข้าแจ้งเหตุและนำหน่วยปฏิบัติการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง จนกระทั่งปัจจุบันก็ไม่มีการปฏิบัติที่จริงจังในการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด

“ก่อนที่เหตุการณ์จะลุกลามบานปลายนำไปสู่ความรุนแรง ทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรม ทำลายทรัพยากรสาธารณะของแผ่นดิน เครือข่ายสมัชชาเกษตรกรภาคอีสานและเครือข่ายป.ป.ช.ภาคประชาสังคมจึงได้นำสมาชิกเข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้บุกรุก ตลอดจนเจ้าหน้าที่ ข้าราชการสังกัดกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และมาตรา 157 ต่อไป” ดร.อวยชัย วะทา กล่าว

 

ขณะที่ พ.ต.อ.อิทธิเดช สุนทร ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า “เมื่อได้รับแจ้งความแล้ว จะมอบให้พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหา เพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย ส่วนข้อเรียกร้องให้มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจออกตรวจในพื้นที่รักษาความสงบนั้นจะดำเนินการให้ทันที”






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.