"บิ๊กป้อม" นั่งหัวโต๊ะถก กนภ. เตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ผันผวนรุนแรง
25 ส.ค. 2566, 13:40
วันนี้ ( 25 ส.ค.66 ) เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 3/66 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุม เพื่อปรับปรุงองค์กรและระเบียบราชการ รับงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย
โดยที่ประชุมได้รับทราบการปรับปรุงกฎกระทรวงและการแบ่งส่วนราชการ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2566 ที่เปลี่ยนชื่อมาจาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยจะทำหน้าที่จะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นหน่วยประสานงานกลางของประเทศ ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นหน่วยให้บริการข้อมูลข่าวสารเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ศึกษาวิจัย พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วนต่อไป
ต่อจากนั้น ได้ร่วมพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม ระเบียบว่าด้วยการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการภายใต้ กนภ.จำนวน 8 คณะ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเสนอให้ส่วนราชการต่างกระทรวง มีหน่วยงานรองรับร่วมขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวไปด้วยกัน
พลเอก ประวิตรฯ ย้ำการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ นับวันจะมีความผันผวนและทวีรุนแรงมากขึ้น โดยมีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมของประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องรอไม่ได้ ที่จะต้องเตรียมการรับมือ โดยกำชับขอให้คณะกรรมการฯ รวมทั้ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ศึกษา ติดตามและขับเคลื่อนดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในและระหว่างประเทศ เตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจและความร่วมมือกัน รับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งการป้องกันและการแก้ปัญหาไปพร้อมๆกัน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด