ชาวบ้านเฮ!เงินกองทุนหมู่บ้าน 45 ล้าน ธนาคารออมสินไกล่เกลี่ยลูกหนี้ ผ่อนชำระภายใน 5 ปี โดยไม่มีการฟ้องบังคับคดี
29 ส.ค. 2566, 09:30
จากกรณี คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชาวบ้าน จำนวน 16 หมู่บ้าน ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ถูกธนาคารออมสินฟ้อง หมู่บ้านละ 2-3 ล้านบาท จากยอดกู้รวมทั้ง 45 ล้านบาท สร้างความเดือนร้อนเป็นอย่างมาก เพราะกลัวธนาคารฯจะดำเนินการอายัดทรัพย์สิน โดยสถาบันการเงินชุมชนตำบลบัลลังก์ ก่อตั้งขึ้นปลายปี 2554 การก่อตั้งใช้เงินจากกองทุนหมู่บ้าน 16 แห่ง ที่ไปกู้เงินจากธนาคารออมสิน สาขาโนนไทย นำมาให้สถาบันการเงินฯ บริหาร โดยมีหนังสือสัญญากู้ ระบุว่า “สถาบันการเงินฯ” ตกลงจะเป็นผู้ติดตามดูแลเงินของสมาชิก และชำระหนี้ให้ธนาคารออมสิน แต่เมื่อชาวบ้านทยอยส่งเงินคืน ปรากฏว่าไม่มีการนำเงินดังกล่าวไปปิดเงินต้น คืนธนาคาร โดยสถาบันการเงินฯ ส่งแต่ดอกเบี้ย ที่ธนาคารเรียกเก็บ ทำให้ปี 2563-2565 ธนาคารออมสินสาขาโนนไทย ทยอยฟ้องดำเนินคดี กับประธานและกรรมการกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้ชดใช้หนี้สินดังกล่าว
นางยุพิน ขุนสันเทียะ อายุ 57 ปี บ.คูเมือง ม.3 ต.ตำบลบัลลังก์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ชาวบ้านกู้เงินกองทุนฯ เผยว่า ตนเองกู้เงินจากสถาบันกองทุนมาจำนวน 150,000 บาท และของสามีอีก 50,000 บาท รวมแล้วเป็น 200,000 บาท ต่อมามีปัญหาหลายอย่างจนไม่สามารถที่จะจ่ายเงินคืนให้กับกองทุนได้ หลังจากเกิดปัญหามานานหลายปี ทำให้สมาชิกจำนวนหลายรายถูกธนาคารฟ้อง จนกระทั่งมีการไกล่เกลี่ย กับธนาคารออมสิน จนมีข้อตกลงกันว่า ให้หยุดดอกเบี้ยและให้ทยอยจ่ายเงินต้น กับธนาคารโดยตรง ไม่ต้องผ่านคณะกรรมการของกองทุนหมู่บ้านฯ มีมากจ่ายมาก มีน้อยใจน้อย แต่ต้องให้จบภายใน 5 ปี เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระและปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้น ซึ่งจากการพูดคุยก็ทำให้ตนเองรู้สึกคลายวิตกกังวล ไม่ต้องเกิดภาวะเครียดเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะธนาคาร หาทางออกให้ โดยมีข้อแม้จะไม่มีการฟ้องเพื่อบังคับคดียึดทรัพย์สินกันภายหลัง
นางกรรณิกา โชว์สันเทียะ ชาวบ้านกู้เงินกองทุนฯ เปิดเผยว่า ตนไม่กู้เงินจากกองทุนมาจำนวน 100,000 บาท และเกิดปัญหาขึ้นทำให้ไม่มีการส่งทั้งเงินต้นและเงินดอก ต่อมาพบว่าทางธนาคารได้ทำหนังสือจะทำการฟ้องร้อง ให้รีบไกล่เกลี่ย จึงได้มีการพูดคุยกับธนาคารเพื่อหาทางออก จนกระทั่งรับทราบถึงปัญหาก่อนที่จะลงเอยกันด้วย ธนาคารจะไม่คิดเงินดอก จ่ายเพียงแค่เงินต้นเท่านั้น โดยจะมีการเก็บเงินทุกวันที่ 20 ของทุกเดือน ทำให้ตนรู้สึกสบายใจในการทำมาค้าขายและหมดห่วงวิตกกังวลว่าที่บ้านจะถูกยึด จึงขอขอบคุณทางธนาคารที่ให้การช่วยเหลือ ปัญหาทุกอย่างจะได้จบลงเลยด้วยดี
นายภาณุวิชญ์ รัตนรักษ์ ผู้จัดการธนาคารออมสินสาขาโนนไทย เปิดเผยว่า จากปัญหาดังกล่าว ทางธนาคารได้มีการปรึกษาหารือกับทางนายอำเภอโนนไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางช่วยเหลือ ผู้ที่ถูกฟ้องร้องและบังคับคดี โดยพบว่ามีคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯทั้ง 16 หมู่บ้าน ได้มีการมากู้เงินจากธนาคารออมสินรวมยอดประมาณ 45 ล้านบาท โดยแต่ละหมู่บ้านจะมียอดกู้ 2-3 ล้านบาท เพื่อที่จะนำเงินดังกล่าวไปปล่อยให้กับสมาชิก จนกระทั่งมีการบริหารงานที่ผิดพลาด ทำให้สมาชิกไม่เกิดความเชื่อมั่นคณะกรรมการฯ จึงทำให้ไม่มีการส่งเงินต้นและเงินดอก จนเวลาผ่านไปเนิ่นนาน ทำให้ธนาคารมีการฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดี ก่อนที่จะมีการไกล่เกลี่ยกับลูกหนี้ และพูดคุยเพื่อสอบถามถึงปัญหา จนกระทั่งหาทางออกให้ลูกหนี้โดยการที่จะชะลอเงินดอก จ่ายแต่เงินต้น ตามความเป็นจริง พร้อมทั้งระงับการบังคับคดี โดยให้ผู้เป็นหนี้จ่ายกับธนาคารโดยตรงในทุกวันที่ 20 ภายในระยะเวลา 5 ปี ให้แล้วเสร็จ ทำให้ชาวบ้านเกิดความพอใจและทำตามกติกาที่มีการพูดคุยกันไว้ จึงทำให้ปัญหามีการคลี่คลายไปในทางที่ดี
นายไพรัตน์ วิทยาอนุมาส นายอำเภอโนนไทย เผยว่า จากปัญหากองทุนหมู่บ้านได้ไปกู้เงินธนาคารออมสิน ก่อนจะมาจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินชุมชนฯ เมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นนโยบายของธนาคารออมสิน ต่อมาได้มีการรวมตัวของกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 16 หมู่บ้าน และไปยื่นกู้กับธนาคารออมสิน ก่อนจะมีการตั้งคณะกรรมการฯ ปรากฏว่าต่อมาพบว่ามีการบังคับคดี เพราะกรรมการกองทุนไม่จ่ายเงินให้กับธนาคารฯ ทำให้เกิดปัญหา จนทำให้เวลาล่วงเลยไม่มีการผ่อนชำระทั้งเงินต้นและเงินดอก ทำให้มีการฟ้องร้องบังคับคดี กลับกองทุนหมู่บ้าน จำนวนหลายกองทุนที่ได้ไปกู้มา ต่อมาได้รับการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินให้มีการไกล่เกลี่ยเรื่องดังกล่าว เพราะทราบว่าชาวบ้านก็ได้รับความเดือดร้อนจากการบังคับคดี ก่อนจะมีการพูดคุย โดยธนาคารออมสินจะร่วมกันในการแก้ไขปัญหา พูดคุยเจรจาประนอมหนี้ยืดหยุ่น รวมไปถึงหาหลักเกณฑ์ต่างๆมาพูดคุยกัน รวมไปถึงจะระงับการบังคับคดี เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนกับ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน ที่เป็นผู้ไปกู้ โดยมีข้อสรุปว่าให้มีการผ่อนชำระ โดยเปิดบัญชีการชำระหนี้ ให้หมดภายใน 5 ปี และให้กองทุนไปไล่เบี้ยลูกหนี้ของตนเอง ที่มีอยู่จริง รวมไปถึงปรากฏหลักฐาน หากชำระไม่เสร็จตามกรอบเวลา ให้ขยายเวลาในการชำระหนี้ต่อไป เพื่อให้ปัญหามันหมดไป
นอกจากนี้ มีกลุ่มชาวบ้านต้องการให้ปลด นายกเทศมนตรีคนหนึ่ง ออกจากตำแหน่งนั้นตนมองว่ามันเป็นคนละเรื่อง เพราะว่าเรื่องสถาบันการเงินชุมชน ทราบว่านายกเทศมนตรีท่านนั้น เคยเป็นกรรมการสถาบันการเงิน ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่ง นายกเทศมนตรี เรื่องการจะปลดออกจากตำแหน่งนั้นมันคนละเรื่อง ซึ่งทางอำเภอก็ไม่มีอำนาจที่จะไปดำเนินการตรงนั้นต้องแยกเพราะมันคนละประเด็น