เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



จับกุม ! "ชาวต่างด้าว" ลักลอบขายสินค้าห้างดังใจกลางกรุง!


14 ก.ย. 2566, 11:05



จับกุม ! "ชาวต่างด้าว" ลักลอบขายสินค้าห้างดังใจกลางกรุง!




ตามนโยบายของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. สั่งการให้ สตม.สกัดกั้น ตรวจสอบ ระดมจับกุมคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจผิดกฎหมายในประเทศไทย รวมทั้งให้ดำเนินการตรวจสอบ ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ หรือกลุ่มคนร้ายข้ามชาติที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ก่อเหตุ หรือโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด

ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ     รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ปิยะอนันต์ โตสกุลวงศ์ ผบก.ตม.1, พ.ต.อ.ระพีพัฒน์ อุตสาหะ รอง ผบก.ตม.1 และ พ.ต.อ.กาจภณ ปฐมัง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 ได้สั่งการให้ พ.ต.ท.สุริยะ พ่วงสมบัติ รอง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่ได้รับจากประชาชน เกี่ยวกับการลักลอบทำงานต้องห้ามของคนต่างด้าว ประเภทการขายสินค้าหน้าร้าน ที่ศูนย์การค้า MBK ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยได้ร่วมกับฝ่ายสืบสวน สน.ปทุมวัน ลงพื้นที่กำหนดเป้าหมายในการเข้าปฏิบัติก่อนวันปฏิบัติจริง 2 วัน คือเมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา 
 



ต่อมาในวันพุธที่ 13 กันยายน 2566 พ.ต.ท.สุริยะฯ ได้นัดหมายประชุมข้าราชการตำรวจในสังกัดเพื่อวางแผนปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยแบ่งกำลังออกเป็น 3 ชุด ครอบคลุมพื้นที่โซน B และ C ของชั้น 2,3 และ 4 ของศูนย์การค้า แต่ละชุดมีเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.ปทุมวันเป็นผู้ชี้เป้า และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สืบสวน บก.ตม.1 เป็นผู้เข้าตรวจสอบ 

จากนั้นเวลา 15.15 น. พ.ต.ท.สุริยะฯ จึงส่งสัญญาณให้ ทุกชุด เข้าตรวจสอบโดยพร้อมกัน เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดไหวตัวหลบหนี หลังจากเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมพบว่าบุคคลต่างด้าวกำลังทำหน้าที่จำหน่าย แนะนำสินค้าและเสนอราคาให้กับลูกค้าที่เข้ามาสอบถาม จึงได้แสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองพร้อมแสดงบัตรประจำตัวให้บุคคลต่างด้าวที่ทำหน้าที่ขายสินค้าในร้านเป้าหมายดูจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงขอตรวจสอบเอกสารประจำตัว หนังสือเดินทาง และใบอนุญาตทำงาน ของพนักงานขายแต่ละคน  ซึ่งภาพรวมสรุปผลของปฏิบัติการในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมบุคคลต่างด้าวได้ 18 ราย เป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ทั้งหมด โดยจับกุมได้จากบริเวณชั้น 4 จำนวน 4 ร้าน ชั้น 3 จำนวน 5 ร้าน และบริเวณชั้น 2 จำนวน 1 ร้าน ร้านค้าส่วนมากเป็นร้านขายกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า เคสโทรศัพท์ บางรายเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจได้พยายามปิดไฟ และดึงประตูบานม้วนเตรียมปิดร้าน 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาทำงานโดย ไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิ์ที่จนกระทำได้ (ขายของหน้าร้าน) จำนวน 15 คน ข้อหาหลบหนีเข้าเมืองและทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิ์จำนวน 2 คน และข้อหาอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุดและทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิ์ จำนวน 1 คน ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวันดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป


 



อนึ่ง งานขายของหน้าร้านนั้น เป็นงานต้องห้าม ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงแรงงาน ลงวันที่ 1 เม.ย.2563 เรื่องกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (บัญชี4) ซึ่งการที่ผู้ใดจะจ้างบุคคลต่างด้าวมาทำงานดังกล่าวได้ นายจ้างจะต้องต้องเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนพาณิชย์ ตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ หรือในกรณีเป็นร้านค้าที่ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ให้นายจ้างแสดงใบอนุญาต หนังสือรับรอง หรือเอกสารที่ทางราชการออกให้ เพื่อประกอบพาณิชยกิจ และนายจ้างต้องรับคนต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านตามหลักสัดส่วน สูงสุดไม่เกิน 20 คน

ซึ่งพิจารณาจากหลักเกณฑ์การชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลในรอบปีภาษีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่รอบปีภาษีที่ผ่านมาได้ยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้และได้รับยกเว้นการเรียกเก็บภาษีเงินได้ สามารถรับคนต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านได้ 1 คน กรณีที่ชำระภาษีเงินได้ตั้งแต่ 1-50,000 บาท สามารถรับคนต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านได้ 3 คน ในกรณีที่ชำระภาษีเงินได้เกินกว่า 50,000 บาท บาท จ้างคนต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านเพิ่มได้ 1 คน ทุก ๆ 50,000 ทั้งนี้ ไม่เกิน 10 คน

หากต้องการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานเกินกว่า 10 คน ให้นำสัดส่วนการจ้างงานคนไทยมาใช้พิจารณา คือ นายจ้างที่มีลูกจ้างคนไทย 30 คน สามารถรับคนต่างด้าวเข้าทำงานเพิ่ม ได้ 1 คน และถ้ามีการจ้างคนไทยเพิ่มทุก ๆ 10 คน ให้รับคนต่างด้าวได้อีก 1 คน ซึ่งรวมทั้ง 2 หลักเกณฑ์แล้วนายจ้าง จะสามารถรับคนต่างเข้าทำงานขายของหน้าร้านได้ไม่เกิน 20 คนส่วนการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานกรรมกรประเภทอื่นๆ นั้น กฎหมายมิได้กำหนดเรื่องสัดส่วนจำนวนคนต่างด้าว ที่จะรับคนต่างด้าวเข้าทำงานไว้ แต่คนต่างด้าวจะมีสิทธิทำงานกรรมกรและงานขายของหน้าร้านได้ ก็ต่อเมื่อในใบอนุญาตทำงานระบุสิทธิว่า สามารถทำงานกรรมกรหรืองานขายของหน้าร้านได้เท่านั้น

ทั้งนี้ หากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว คนต่างด้าวและนายจ้างจะมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยคนต่างด้าวจะมีความผิดตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท และเมื่อได้ชำระค่าปรับแล้ว ให้ส่งคนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ส่วนนายจ้างจะมีความผิดตามมาตรา 9 สำหรับการกระทำความผิดครั้งแรก ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน และหากเป็นการกระทำความผิดครั้งที่ 2 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามผู้นั้นจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ศาล มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ






Recommend News

















©2018 ONBNEWS. All rights reserved.