นายกฯ ปาฐกถาพิเศษ "Next chapter ประเทศไทย" ย้ำเร่งผลักดันเศรษฐกิจไปข้างหน้า
29 ก.ย. 2566, 14:04
วันนี้ (29 ก.ย. 66) เวลา 09.00 น. ณ แกรนด์ฮอลล์ ชั้น 2 โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “Next chapter ประเทศไทย” ในงานสัมมนา “ถอดรหัสลงทุน ก้าวข้ามวิกฤต” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ โดยมีนางสาวปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นางสาวสุดใจ ชาญชาตรีรัตน์ บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ รวมทั้งผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักวิเคราะห์ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ นักศึกษา สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ก่อนการกล่าวปาฐกถาพิเศษ “Next chapter ประเทศไทย” นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมสนทนาช่วง Breakfast with the Prime Minister ณ ห้อง London Room โดยมีนักธุรกิจ นักคิด และปัญญาชน ได้ร่วมสนทนาบรรยากาศเป็นไปด้วยความเป็นกันเอง จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ “Next chapter ประเทศไทย” โดยกล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ต้องเร่งแก้ปัญหา ทั้งปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม และความแตกแยก โดยเฉพาะปัญหาความแตกแยกถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่และหมักหมมมายาวนาน แม้จะมีการแก้ปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอดแต่ก็ยังเป็นเรื่องยากเพราะเกี่ยวข้องกับหลายมิติอาจทำให้การแก้ปัญหาไม่ตรงจุดและปัญหาดังกล่าวก็นำมาซึ่งหลายปัญหาตามมา รัฐบาลนี้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และได้มีการเริ่มกระบวนการแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยได้มีการวาง road map ในการดำเนินการเรื่องนี้แล้ว โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมุ่งเน้นการแก้กฎกติกาอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และอาศัยความร่วมมือของประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมไทยเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนจะมาช่วยกัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเหลื่อมล้ำสูงว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูงมาก คนจนก็จนมาก ขณะที่คนรวยก็รวยมาก ซึ่งหากต้องการให้รัฐบาลออกเป็นคำสั่งการออกมาที่จะมาแก้ไขปัญหานั้น ปัญหาจะไม่ถูกแก้ไข แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจะถูกแก้ไขได้ด้วยจิตสำนึกของทุกคน จึงขอให้ทุกคนเข้าใจและช่วยกันในการร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไปด้วยกันในทิศทางในเชิงบวกและเป็นประโยชน์ ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาค ความแตกแยก ความไม่เท่าเทียมในทุกมิติ สิทธิเสรีภาพ เพศสภาพ เรื่องการประกอบอาชีพ ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมแท้จริง พร้อมขอความร่วมมือให้ทุกคนตระหนักถึงการใช้ภาษาในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่าง ๆ รวมถึงสื่อออนไลน์ในทางสร้างสรรค์โดยไม่ทำร้ายจิตใจและความรู้สึกซึ่งกันและกันในสังคม เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่จะนำมาซึ่งความแตกแยกในประเทศและสังคมของเรา จึงขอให้ทุกคนมาช่วยกันทำสังคมให้ดีขึ้นเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ควบคู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจว่า ขณะนี้เศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน GDP เติบโตกว่าไทยกว่า 10 เท่า ขณะที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากโควิด ซึ่งรัฐบาลนี้ก็พยายามที่จะผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนออกไป เช่น ดิจิทัล วอลเล็ต ค่าแรงขั้นต่ำ การลดค่าไฟฟ้า การพักหนี้ เพื่อดูแลบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน เพราะรัฐบาลนี้มาเพื่อประชาชน อะไรที่ทำได้ก็จะทำก่อน โดยเฉพาะการพักหนี้เกษตรกรที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มีขวัญกำลังใจทำงานต่อได้และทำให้นโยบายรัฐบาลนำเข้าไปสู่กระบวนการฟื้นฟูได้ โดยใช้ “การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยการใช้ตลาดนำนั้น รัฐบาลจะไปเปิดตลาดใหม่ ๆ เช่น แอฟริกา ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น EU ซึ่งจะทำให้มี demand for goods มากขึ้น อันจะส่งผลให้รายได้ของประชาชนเกษตรกรดีขึ้นตามไปด้วยและเกิดการแก้ปัญหาระยะยาวให้เกษตรกร ทำให้การพักหนี้เกษตรกรน้อยลง พร้อมย้ำถึงการขับเคลื่อน “ไม่ท่วม ไม่แล้ง” ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความกังวลเรื่องระดับน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ที่น้อยลง โดยได้มอบหมายให้กรมชลประทานไปดำเนินการแล้ว โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบต้องให้เพียงพอสำหรับประชาชนทั้งการอุปโภคบริโภค ด้านรักษาระบบนิเวศ ด้านการเกษตร และด้านอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA78) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ที่ผ่านมาว่า การเดินทางไป UNGA78 เป็นการบริหารความคาดหวังของสองประเทศมหาอำนาจ ซึ่งได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้นำหลาย ๆ ประเทศ เป็นการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า ประเทศไทยเปิดแล้วสำหรับการทำธุรกิจ ในการเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้ากับทุกประเทศ โดยไทยจะมีการเดินทางไปเจรจาภาคการค้ากับประเทศต่าง ๆ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการทำ FTA รวมถึงได้มีการไปพูดคุยกับหลายบริษัท ซึ่งหลายบริษัทให้ความสนใจกับไทยอย่างมาก เช่น ไมโครซอฟท์ เทสล่า กูเกิ้ล ซึ่งบริษัทใหญ่ ๆ ต่างสนใจที่จะมาลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านเหรียญ ซึ่งจะทำให้มีธุรกรรมต่อเนื่องตามมาอีก และจะมีการคุยกันต่อเนื่อง ซึ่งในการประชุม APEC ที่ซานฟรานซิสโกที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ได้มีการนัดหมายกันแล้วว่าจะคุยต่อ และเป็นความหวังของรัฐบาลว่า จะมีการตกลงกันต่อไปในหลายระดับ ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีว่าประเทศไทยได้เปิดแล้ว เพราะไทยไม่สามารถที่จะพึงการเจริญเติบโตของ GDP ได้จากภาคเกษตรอย่างเดียว ดังนั้นต้องมีการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำถึงการเตรียมความพร้อมทุกด้านในการรองรับต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น ทั้งโครงสร้างพื้นฐานทุกด้าน (Infrastructure) และการพัฒนาสนามบิน การอำนวยความสะดวก เช่น เรื่องวีซ่า การมีโรงเรียนนานาชาติที่ดี มีโรงพยาบาลที่ดี พร้อมรองรับการเข้ามาอยู่ของชาวต่างชาติ รวมถึงการพัฒนาเมืองรองต่าง ๆ ในภูมิภาคของประเทศไทยเพื่อเป็นการกระจายความเจริญ และจะยกระดับหลาย ๆ เมืองเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นปัจจัยเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนมากขึ้นสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุน Tourism Industry ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้อยู่ในประเทศไทยได้นานขึ้นทำให้เกิดการใช้จ่ายในพื้นที่มากขึ้นและเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม นอกจากนี้ยังรวมถึงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอันดามัน ซึ่งให้ใช้ชื่อนี้ เพราะต้องหมายรวมถึงทุกจังหวัดทางภาคใต้ ตลอดจนการพัฒนาสนามบินนานาชาติอื่นๆ ด้วย เพื่อยกระดับ Infrastructure และการบินในประเทศไทยให้เหนือกว่าคู่แข่ง
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำถึงการ “ไม่ท่วม ไม่แล้ง” ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อน GDP ของประเทศไทยได้ และประเทศไทยต้องเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารสูง และสามารถเป็นแหล่งส่งอาหารออกไปต่างประเทศด้วย รวมถึงได้กล่าวถึง Geopolitics ว่าประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก แต่เราภาคภูมิในเอกราชที่เรามีมาตลอด เราต้องมีความเป็นกลาง ยึดมั่นในความสงบ ความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการที่รัฐบาลจะ balance ความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของประเทศ ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งภูมิศาสตร์ของประเทศไทยในภูมิภาคเป็นตำแหน่งที่ดีดังนั้นต้องบริหารจัดการตรงนี้ให้ดี นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในเดือนธันวาคมนี้ โดยยืนยันกับทาง BOI ว่า รัฐบาลนี้ไม่ลืมต้นน้ำ ไม่ลืมญี่ปุ่น ที่ช่วยเหลือไทยมาตลอด และยังคง take care ธุรกิจเดิมอยู่ เช่น รถสันดาปก็ยังต้องอยู่ต่อไป อาจมีการให้ incentive บางประการเพื่อให้โรงงานยังคงอยู่ต่อไป และให้เตรียมตัวในช่วงปรับตัวไปสู่ยุครถ EV