เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ หารือวางแผนแก้ปัญหาอุทกภัย จ.อุบลฯ สั่งพัฒนาระบบเตือนภัยแจ้งข่าวสาร


6 ต.ค. 2566, 15:27



นายกฯ หารือวางแผนแก้ปัญหาอุทกภัย จ.อุบลฯ สั่งพัฒนาระบบเตือนภัยแจ้งข่าวสาร




วันนี้ ( 6 ต.ค.66 ) เวลา 13.20 น. ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัย พร้อมสั่งการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยมีนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายว่า  จังหวัดอุบลราชธานีสภาพบ้านเมืองประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมาโดยตลอด ซึ่งได้รับทราบปัญหานี้มาตั้งแต่ก่อนจะเข้ามาสู่เวทีการเมืองว่าที่ผ่านมาจะแก้ไขแบบบูรณาการในระยะยาวไม่ได้ ซึ่งตนเองมีความเข้าใจและห่วงใยกับปัญหาที่หมักหมมมานาน และไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยพบน้ำท่วมที่จังหวัดแพร่และจังหวัดสุโขทัยเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้ได้ดำเนินการป้องกัน และอยู่ในช่วงเวลาของการเยียวยาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า จังหวัดอุบลราชธานีน้ำกำลังจะเริ่มท่วม ซึ่งยังไม่ถึงฤดูกาลที่น้ำจะมามาก แม้น้ำจะเริ่มมาแล้วแต่ก็ไม่มากเท่ากับปีที่แล้ว ทั้งนี้ ทางสำนักนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีข้อแนะนำในหลายข้อ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อดำเนินการป้องกันไว้ก่อน ก็อาจจะไม่ทำให้เกิดวิกฤติได้ ซึ่งวิกฤตน้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีไม่ใช่แค่เสียหายทางด้านเศรษฐกิจแต่เกี่ยวข้องกับทางด้านเกษตรกรรมอย่างมหาศาล รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมขังบางพื้นที่นานนับสัปดาห์ ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย ไม่สะดวกสบาย และมีโรคภัยไข้เจ็บที่จะตามมา   

นายกรัฐมนตรีย้ำ รัฐบาลชุดนี้ตระหนักดีว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อไปอีกเรื่อย ๆ ไม่ได้ แต่รัฐบาลเข้ามาบริหารจัดการได้ไม่ถึงเดือน ถือว่าเพิ่งจะได้เข้ามาทำงาน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งได้มีการลงพื้นที่ติดตามดูสถานการณ์อุทกภัย โดยมีความเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาระยะสั้นยังทำได้ดี ทำได้มากกว่าที่เคยมา และทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งจะนำข้อมูลมาวางแผนโดยเฉพาะระยะสั้นทำอย่างไรไม่ให้ท่วมเหมือนปีที่แล้ว และให้น้ำท่วมน้อยลงไปเรื่อย ๆ 

ภายหลังรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรีกล่าวสั่งการว่า เมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นแล้วต้องมีการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ ขอให้พัฒนาระบบเตือนภัยและแจ้งข่าวสาร รวมถึงตรวจสอบความมั่นคงของโครงสร้าง เตรียมการช่วยเหลือประชาชน เตรียมการฟื้นฟูหลังประสบอุทกภัย และรายงานความคืบหน้าให้รัฐบาลได้รับทราบ โดยส่วนตัวเชื่อมั่นและมีความหวังว่าระหว่างนี้จนถึงฤดูฝน ทุกคนทำเต็มที่แล้วหรือยัง และทำอย่างไรให้ท่วมน้อยที่สุดและระบายน้ำได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีสถานการณ์น้ำจะท่วมในช่วงต้นเดือนตุลาคม ดังนั้น จะต้องมาดูในเรื่องของมิติการระบายน้ำที่ต้องทำให้ดีขึ้น ต้องขอบคุณทุกคน และอยากให้ลองใช้วิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาดูบ้าง

ด้านนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดอุบลราชธานีและในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการระบายน้ำโดยต้องเร่งระบายน้ำช่วงต้นฤดู คือตั้งแต่เดือนมิถุนายน เพื่อระบายน้ำออกจากเขื่อนใหญ่ในพื้นที่ ให้มีพื้นที่สามารถรองรับน้ำในฤดูฝน ซึ่งที่ผ่านมาเขื่อนใหญ่ ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกักเก็บน้ำไว้จำนวนมาก แต่ไม่สามารถระบายน้ำออกใช้เพื่อการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากเมื่อถึงฤดูฝน









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.