ประเพณีเก่าแก่ชาวสุรินทร์ ประตูโยมโลกเปิดคนไทยเชื้อสายสุรินทร์นัดครอบครัวทำบุญชัก อุทิศส่วนกุศลให้ผีบรรพบุรุษ
9 ต.ค. 2566, 18:31
วันนี้( 9 ต.ค.) 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงนี้ เป็นช่วงเทศกาลทำบุญวันสารทเดือนสิบ หรือ วันสารทเขมร ของชาวสุรินทร์ ซึ่งคนไทยเชื้อสายเขมรท้องถิ่น เรียกว่า “ไงแซนโฎนตา ไงเบ็ญทม” (ไง-แซน-โดน-ตา-ไง-เบ็น-ทม) แปลว่า วันเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ในวันสารทใหญ่ ซึ่งปีนี้จะตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ต.ค.66 นี้
และก่อนที่จะถึง “ไงเบ็ญทม”ดังกล่าว ระยะนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.66 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็น”ไงเบ็ญตู๊จ (ไง-เบ็น-ตู๊ด) หรือวันสารทเล็ก หรือวันสารทส่วย ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 รวม 15 วัน ไปจนถึง “ไงเบ็ญทม”ตรงกับวันที่ 13 ต.ค.66 แรม 14 ค่ำ เดือน 10 ดังกล่าว ก็มักจะพบว่ามีคนไทยเชื้อสายเขมรท้องถิ่นสุรินทร์ มักนัดรวมตัวกันกับครอบครัว ญาติพี่น้อง ลูกหลาน เพื่อไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า
“ทำบุญชัก”นั่นเอง และในช่วงเวลานี้ ลูกหลานชาวเขมรท้องถิ่นสุรินทร์ ที่ไปทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ จะเดินทางกลับมาหาครอบครัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ และชาวสุรินทร์ ก็ยังมีความเชื่อว่า เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ประตูยมโลกจะเปิด เพื่อให้ผู้รับกรรมที่อยู่ในนรกได้เดินทางมาเยี่ยมญาติได้ ชาวสุรินทร์จึงจัดทำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ในตอนเย็นของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 และพอรุ่งเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ก็จะนำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัด เรียกว่า “วันเบ็นตู๊จ” โดยเชื่อว่าผีจะออกมาจากยมโลกได้ 15 วัน หลังจากนั้นต้องกลับไปรับกรรมในยมโลกตามเดิม จากวันเบ็นตู๊จ นับไปอีก 15 วัน (นับจากวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10) จะตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี คือ “วันเบ็นทม” ซึ่งเป็นวันที่ประกอบพิธีแซนโฎนตา “ไงเบ็ญทม”ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ต.ค.2566 นี้ดังกล่าว
และในห้วง 15 วันก่อนจะถึงวัน “ไงเบ็ญทม”13 ต.ค.66 นี้ ก็ยังคงพบว่าประชาชนต่างพากันไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลดังกล่าวทุกวัน แล้วแต่ว่าครอบครัวใครจะสะดวกนัดกันวันไหน โดยเฉพาะที่วัดพระธาตุเสด็จ 72 พรรษา บ.ตาพราม ต.เทพรักษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 8 ต.ค.66 ที่ผ่านมา ก็ได้มีชาวบ้านหลายร้อยคน ได้นิมนต์พระสงฆ์ มาเพื่อทำพิธีสวดทำบุญชัก “ในช่วงเทศกาลไงเบ็ญทมหรือสารทเดือนสิบ” เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยการนำข้าวต้มมัด อาหารคาวหวาน ผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ มาเพื่อประกอบพิธีหน้าเจดีย์ของบรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย พ่อแม่และญาติพี่น้องที่ล่วงลับ ของแต่ละครอบครัว พร้อมนิมนต์พระมาสวดเพื่ออุทิศบุญกุศลแก่วิญญาณผู้ตายที่ต่างเชื่อว่า จะออกมารอกินรอรับส่วนบุญที่ลูกหลานทำให้ในช่วงเทศกาล “ไงเบ็ญทม”ของทุกๆปี
สำหรับประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะในภาคอีสาน 3 จังหวัดอีสานใต้ บุรีรัมย์ สุรินทร์และศรีสะกษ ถือว่าเป็นงานบุญที่สำคัญ ตรงกับวันสิ้นเดือน 10 หรือ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ในปี 2566 นี้ ชาวบ้านนิยมทำบุญชักในช่วงวันทำบุญหนแรก เริ่มตั้งแต่ “ไงเบ็ญตู๊จ (ไง-เบ็น-ตู๊ด) หรือสารทส่วยหรือสารทเล็ก” ตรงกับ วันเสาร์ ที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา จนถึงการทำบุญหนหลัง ตรงกับที่ 14 ตุลาคมซึ่งเป็น “วันเบ็ญทมหรือสารทใหญ่” นั่นเอง จึงทำให้พบว่าในห้วง 15 วันจนถึงไงเบ็ญทม จะพบว่ามีประชาชนต่างพาครอบครัวญาติพี่น้องไปทำบุญชัก เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ พ่อแม่ ญาติพี่น้องดังกล่าวอย่างคึกคัก
ขณะที่คอหวยนักเสี่ยงโชคจะลืมกันไม่ได้เลย ก็คือการจุดธูปเสี่ยงทายตัวเลข หวังว่าวิญญาณบรรพบุรุษ จะให้โชคลาภ ซึ่งก็ได้เลขเด็ดแตกต่างกันไปต่างๆนาๆ โดยที่วัดแห่งนี้ เคยมีคนโชคดีได้รับรางวัลใหญ่ ถูกล็อตตอรี่รางวัลที่ 1 งวดวันที่ 16 ก.ย.64 จำนวน 1 ใบ รับเงิน 6 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันนี้มาแล้วอีกด้วย