เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.1 หารือขับเคลื่อนโครงการจังหวัดต้นแบบ "PPP–สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ : เมืองคาร์บอนต่ำ"


18 ต.ค. 2566, 15:49



มท.1 หารือขับเคลื่อนโครงการจังหวัดต้นแบบ "PPP–สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ : เมืองคาร์บอนต่ำ"




วันนี้ ( 18 ต.ค.66 ) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือ เรื่องการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการจังหวัดต้นแบบ "PPP – สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ : เมืองคาร์บอนต่ำ" โดย นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวที่มาของโครงการ และ ดร.ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารความยั่งยืน สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ได้กล่าวนำเสนอแนวทางการดำเนินโครงการ โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวไตรสุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายภูธนะ ชมภูมิ่ง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสระบุรี ผู้บริหารในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเศษวัสดุเหลือใช้ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี นายณัฐวุฒิ อินทรส ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาอย่างยั่งยืน นายสรศักดิ์ กีรติโชคชัยกุล ผู้อำนวยการประสานงานด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นายเจตพล เอมมณี ผู้อำนวยการเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเหลือใช้ สภาอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยที่ทุกคนให้ความสำคัญ ซึ่งทุกฝ่ายต่างรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมพบปะหารือร่วมกันกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมตามที่ได้ประกาศในเวทีสหประชาชาติ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ในปัจจุบันนับว่าเป็นเรื่องที่มนุษย์เราทุกคนให้ความสำคัญและตระหนัก พร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ การขับเคลื่อนโครงการจังหวัดต้นแบบ "PPP – สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ" ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นจังหวัดสระบุรีมีการพัฒนาและยกระดับก้าวไปสู่จังหวัดเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ในลักษณะเดียวกับจังหวัดบุรีรัมย์ ที่จากเคยเป็นเมืองที่ไม่มีอะไร (Hopeless) กลายมาเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจและเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทยและภูมิภาคแห่งนี้ 

"การเริ่มโครงการจังหวัดต้นแบบที่จังหวัดสระบุรี สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะต้องร่วมทำด้วยกัน ไม่ใช่การทำเพียงเจ้าใดเจ้าหนึ่ง เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดมาจากอุตสาหกรรมในภาพรวม จึงเป็นสิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้ โดยต้องหาแนวทางอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และลดความซ้ำซ้อนอุปสรรค (Red tape) ให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ตลอดจนต้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจให้ชาวบ้าน ให้ทุกคนในพื้นที่รับรู้รับทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากพัฒนาเมืองให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นบ้านเมืองที่เป็น Smart City ด้วยเเนวคิด "ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที" ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถใช้กลไกอำเภอและท้องถิ่นมาช่วยดำเนินการในเรื่องนี้ได้ นอกจากนี้ผู้ดำเนินโครงการต้องพิจารณาเรื่องแหล่งวัตถุดิบที่เพียงพอ คำนึงถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมกับภาคธุรกิจเดียวกันด้วย ทั้งหมดที่กล่าวมามีเป้าหมายเดียวกัน คือ การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรม คำนึงถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน ในฐานะภาคราชการกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่มีกลไกในระดับพื้นที่ (Area Based) ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่และทุกมิติ มีภารกิจในการ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" จึงขอยืนยันว่าพวกเรายินดีที่จะให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการจังหวัดต้นแบบ "PPP – สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ" นี้อย่างเต็มที่ และพร้อมจะนำความสำเร็จที่เกิดขึ้น ไปขยายผลสู่จังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทยต่อไป" นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว

ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเน้นย้ำว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมีนโยบายสำคัญ คือ การจัดการขยะที่ยั่งยืน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการสิ่งปฏิกูลในแม่น้ำลำคลอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐของทุกจังหวัดนำปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Hydraulic Cement) ตามมาตรฐานและคุณลักษณะ ใช้ในโครงสร้างอาคาร ที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมในจังหวัดนำร่องนั้น ทุกจังหวัดสามารถดำเนินการได้ทันทีตามกรอบแนวทางของแต่ละจังหวัดที่ได้กำหนดไว้แล้ว เพียงแต่อาจมีชื่อโครงการไม่เหมือนกัน เพราะในความเป็นจริงทุกจังหวัดต่างให้ความสำคัญและขับเคลื่อนภารกิจโดยมีเป้าประสงค์เดียวกัน คือ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้แนวทางการเป็นหมู่บ้านยั่งยืน และจังหวัด/อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ดังนั้น เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การติดตามความคืบหน้าการดำเนินการ รวมถึงการร่วมส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Hydraulic Cement) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ควบคู่กับการเก็บข้อมูล เพื่อเปรียบเทียบคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต รวมถึงการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากนี้การมีระบบบำบัดน้ำเสียในอาคารบ้านเรือนที่สร้างใหม่ทุกหลังเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน เพื่อช่วยลดโลกร้อน ตลอดจนถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ Eco Tour เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย "Partnership" ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 17 เพื่อทำให้ทุกพื้นที่ในประเทศเป็นพื้นที่สีเขียว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยลดโลกร้อน ขับเคลื่อนสู่การเป็นประเทศไทยที่ยั่งยืน สร้างความสมดุลให้แก่โลกใบเดียวใบนี้ของเราทุกคน

นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ประกาศเจตนารมณ์ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 สอดคล้องกับโครงการฯ และบริบทของจังหวัดสระบุรี โครงการจังหวัดต้นแบบ "PPP - สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ" เป็นโครงการที่จะช่วยให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่จังหวัดสระบุรี โดยจะผลักดันเป็นจังหวัดนำร่อง เพราะจังหวัดสระบุรีเป็นพื้นที่เมืองหลวงของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จำนวนกว่าร้อยละ 80 ของประเทศตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งจากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจังหวัดสระบุรี มีปริมาณอยู่ที่ 27 ล้านตันคาร์บอน โดยจำนวน 19.8 ล้านตัน มีต้นตอมาจากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการฟังเสียงของประชาชน ทุกคนให้การสนับสนุน ยินดี และเต็มใจที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน ประกอบกับที่จังหวัดสระบุรี ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด และองค์การสหประชาชาติได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนประเทศไทยที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ดังนั้น หากจังหวัดสระบุรีสามารถอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตามแนวทางความร่วมมือภาครัฐ - ภาคเอกชน (Public - Private Partnership : PPP) ในการสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการย่อยภายใต้โครงการจังหวัดต้นแบบฯ ตามแผนและกรอบความร่วมมือที่กำหนด จะส่งผลให้จังหวัดสระบุรีสามารถขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม

ดร.ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ - การบริหารความยั่งยืน สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่ได้สนับสนุนในเรื่องโครงการที่เกี่ยวกับการลดภาวะโลกร้อน จังหวัดสระบุรีเป็นเมืองที่มีความซับซ้อนและท้าทาย เนื่องจากมีระบบเศรษฐกิจที่ผสมผสานระหว่างอุตสาหกรรมพื้นฐาน ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เกษตร ท่องเที่ยว ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม จึงได้ทำงานแบบบูรณาการ (Public Private Partnership: PPP) พัฒนาสระบุรีเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ โดยออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพของเมือง ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งดึงดูดเงินลงทุนจากภายนอกประเทศ และเป็นแรงจูงใจให้จังหวัดอื่น ๆ โดยอาศัยความร่วมมือเพื่อผลักดันสระบุรีสู่เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย โดยดำเนินการผ่าน 5 โครงการหลัก ประกอบด้วย 1) ภาคพลังงาน โดยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ การศึกษาการใช้พลังงานไฮโดรเจน และการปลูกพืชพลังงาน (Biomass) หญ้าเนเปียร์ แปรรูปเป็นเชื้อเพลิง 2) ภาคอุตสาหกรรมสีเขียวและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU) ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Hydraulic Cement) และแอ่งเก็บคาร์บอน 3) ภาคการจัดการของเสีย ใช้ซากพืชหรือซากขยะอุตสาหกรรมมาใช้เป็นพลังงานทดแทน 4) ภาคเกษตรกรรม การทำนาเปียกสลับแห้ง สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก สร้างมูลค่าเพิ่ม จากข้าวคาร์บอนต่ำ และรายได้จากคาร์บอนเครดิต 5) ภาคการใช้พื้นที่และป่าไม้ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดมูลค่าสูงสุด









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.