นายกฯ กล่าวปาฐกถาในงาน Thailand – China Investment Forum ย้ำ! มุ่งมั่นพัฒนาประเทศไทยให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
19 ต.ค. 2566, 10:10
วันนี้ (19 ตุลาคม 2566) เวลา 09.20 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชม.) ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม 2-3 โรงแรมเคอร์รี่ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา Thailand – China Investment Forum โดยนายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่สยามพารากอน เป็นกำลังใจให้ครอบครัวและยืนยัน รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อความสะดวกสบายใจของนักท่องเที่ยวจีนในการเดินทางมาท่องเที่ยวและเดินทางกลับบ้านได้อย่างมีความสุข ให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยเพื่อนักท่องเที่ยวทุกคน โดยยินดีและขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-จีนที่ราบรื่น ยาวนาน ทุกด้าน โดยในปี ค.ศ. 2023 นี้ จะครบรอบ 48 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และเมื่อปี ค.ศ. 2022 ไทยและจีนเพิ่งครบรอบ 10 ปี ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามและประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ฉบับที่ 4 (ปี ค.ศ. 2022 - 2026) และแผนความร่วมมือระหว่างไทย - จีน ว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ
สำหรับการเยือนครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ครั้งที่ 3 ซึ่งข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดความร่วมมือในหลากหลายมิติ รวมถึงมีส่วนสำคัญกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มอาเซียน และเกิดความเกื้อหนุนระหว่างประเทศตามแนวยุทธศาสตร์ดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่ถึงกว่า 60 ประเทศ ประชากรประมาณ 4,400 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 63 ของประชากรโลก
โดยไทยในฐานะศูนย์กลางอาเซียนสามารถเชื่อมต่อเส้นทางภายใต้ BRI ทั้งทางบกและทางทะเล พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทย-จีน ซึ่งปัจจุบันทางบก ไทยมีเส้นทางถนน R3A เชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังคุนหมิง ทางน้ำมีการเดินเรือในแม่น้ำโขงและการเดินเรือสมุทรระหว่างไทยกับจีน ส่วนทางอากาศมีเส้นทางบินตรงจากเมืองใหญ่หลายเมืองของจีนมายังไทย นอกจากนี้ รัฐบาลมีแผนจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว พร้อมทั้งยกระดับระบบคมนาคมและขนส่งของไทย จึงเป็นโอกาสในการยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกันให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งไทยมีความพร้อมทั้งระบบเศรษฐกิจ บุคลากร และความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (ease of doing business) สำหรับการค้าและการลงทุน
นอกจากนี้ ไทยเห็นความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว ปัญญาประดิษฐ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Made in China 2025 ของจีน โดยมีการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนา Startup ที่มีศักยภาพให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก ให้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
ในระดับภูมิภาค จีนและไทยได้ร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นสัญญาการค้าขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก ทำให้ไทยได้รับสิทธิยกเว้นอากร หรือลดอัตราอากรศุลกากร และกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน (ACFTA) ซึ่งส่งผลให้ภาษีสินค้านำเข้าเป็น 0 มากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด ตั้งเป้าเปิดตลาดสินค้าเพิ่มในหมวดสินค้าอ่อนไหว เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจไปสู่การเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ไทยมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ในอาเซียน โดยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ของภูมิภาค การเข้ามาทำธุรกิจการค้าและการลงทุนกับไทย จึงครอบคลุมไปถึงประชากรกว่า 620 ล้านคนในอาเซียน
ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีย้ำบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ของไทย โดยกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ผ่านการค้าและการลงทุน พร้อมใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิด โดยยึดมั่นการเสริมสร้างความสัมพันธ์บนพื้นฐานการไว้วางใจ การให้เกียรติ และการเคารพซึ่งกันและกัน
ด้านเศรษฐกิจของไทย รัฐบาลมีนโยบายยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (Visa Free) พร้อมทั้งผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว เช่น การลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งคาดว่าจะทำให้ GDP ของไทยในปี 2024 ขยายตัวได้สูงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา โดยจีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่และผู้ลงทุนอันดับหนึ่งของไทย นายกรัฐมนตรีจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การค้าไทย - จีนจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น และอยากให้จีนซื้อสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้นรวมถึงการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รัฐบาลพร้อมสนับสนุนผู้ลงทุนจากจีน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งรัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวกและดูแลนักลงทุนจีน
ด้านการท่องเที่ยว รัฐบาลมุ่งมั่นอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในส่วนของนักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวอันดับต้นของไทย รัฐบาลมีมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวจากจีนเป็นพิเศษ ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยหวังว่า นักท่องเที่ยวจากจีนจะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ประเทศไทยมีความปลอดภัย พร้อมที่จะดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจีนอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของประเทศไทยสู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม ยกระดับและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย สร้าง 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power : OFOS) ผ่านคอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรม ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยต่อเวทีโลก
ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นอีกประเด็นสำคัญ ไทยมีประชากรส่วนมากอยู่ในภาคการเกษตร และเป็นผู้ส่งออกหลักในกลุ่มอาหารและสินค้าเกษตร จึงต้องการพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เปลี่ยนจากเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ จำเป็นที่ต้องมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนและสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมให้เกิดการเงินและการลงทุนสีเขียว เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ รัฐบาลมีแผนเสริมสร้างสังคมดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการทำงาน ควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีนโยบายเปิดรับแรงงานและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคล และแรงงานทั้งในภาคการผลิต การบริการ และการพัฒนาเทคโนโลยี
ด้านการศึกษา จีนเป็นประเทศเป้าหมายของนักศึกษาไทยจำนวนมาก หวังว่าทั้งสองประเทศจะผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของไทยและจีนให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาการค้า การลงทุนร่วมกัน พร้อมทั้งเชิญชวนนักลงทุนและบุคลากรทักษะสูงจากจีน เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีหวังว่างานสัมมนาในวันนี้จะช่วยเชื่อมโยง กระตุ้นโอกาสด้านการค้าการลงทุน และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างไทยและจีนมากขึ้น พร้อมเชื่อมั่นว่า ไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้มั่นคงทางเศรษฐกิจ มีความพร้อม ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างไทยกับจีน พร้อมที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ และช่วยส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชียก้าวสู่ความก้าวหน้า เต็มศักยภาพ และรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน
โดยได้แจ้งการดำเนินโครงการ Landbridge และเชิญชวนนักลงทุนจีนร่วมลงทุนในโครงการนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันการสนับสนุนการลงทุนจากนักลงทุนจีน ให้ Ease of doing business เกิดขึ้นจริง ขอร่วมเดินทางกับจีนในเส้นทาง business ที่ท้าทาย เพื่อความรุ่งเรืองร่วมกัน