เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



คืบหน้ารักษา ลูกเสือของกลาง "โขง" พบอาการดีขึ้น ก้อนเนื้อที่ขาเริ่มยุบลง


19 ต.ค. 2566, 12:17



คืบหน้ารักษา ลูกเสือของกลาง "โขง" พบอาการดีขึ้น ก้อนเนื้อที่ขาเริ่มยุบลง




เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 66 นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก รายงานว่า สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ทำการรักษาลูกเสือโคร่ง เพศผู้ ชื่อโขง (สัตว์ป่าของกลาง) จากการพบความผิดปกติบริเวณขาหน้าข้างซ้าย (ศอกซ้าย) หรือเรียกว่า Hygroma เป็นก้อนลักษณะนิ่ม ขนาด 9 เซนติเมตร จากการนอนกดทับบนพื้นปูนเป็นประจำ  โดยทำการใช้เครื่องแมคเนโต (เครื่องมือแพทย์ที่ให้การรักษาด้วยพลังงานสนามแม่เหล็ก)  ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารักษา เพื่อลดอาการบวม อักเสบ และลดปวด โดยการให้ลูกเสือโคร่ง (โขง) นอนทับแผ่นปล่อยคลื่นแม่เหล็กแม่ไฟฟ้า เพื่อให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทะลุ ทะลวงไปยังเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ ตามโปรแกรมการรักษาที่ตั้งไว้กับตัวเครื่อง ซึ่งการรักษาปัจจุบัน ได้ทำการรักษามาแล้วเป็นระยะเวลา 10 วัน พบว่าก้อนบวม (Hygroma) ที่ผิดปกติมีลักษณะนิ่มมากกว่าเดิม และรูปลักษณะย้อยตัวไม่เป็นก้อนกลมเหมือนที่ตรวจพบในครั้งแรก ไม่พบความเจ็บปวด ขนาดของก้อนบวมลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงมีของเหลวอยู่ภายในก้อนบวม


สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่า บึงฉวาก ได้ทำการปรับแผนการรักษาเพิ่มเติม โดยใช้วิธีการเจาะดูดรักษา ซึ่งพิจารณาแล้ว พบว่า ก้อนบวม (Hygroma) มีลักษณะนิ่มมากและลักษระย้อย (หย่อน) ลงมาจากเดิมมาก เนื่องจากการใช้เครื่องแมคเนโต ในการลดอักเสบในการรักษาช่วงแรก จึงง่ายต่อการเจาะดูดรักษา ซึ่งสัตวแพทย์ได้ทำการวางแผนการรักษาโดยไม่ต้องใช้วิธีการวางยาสลบเพื่อทำการผ่าตัดรักษา เนื่องจากเสือโคร่งโขง ยังเป็นลูกสัตว์ อายุน้อย


จากนั้นสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ทำการโกนขน และพ่นยาชาเฉพาะที่บริเวณก้อนบวม (Hygroma) และสัตวแพทย์ทำการเจาะดูดเพิ่มเติมจนของเหลวในก้อนบวม (Hygroma) ยุบลงจนเป็นปกติและทำการให้ยาปฏิชีวนะ และ ยาลดปวด ลดอักเสบ เพิ่มเติม ต่อเนื่องจนครบโปรแกรมการรักษา


สำหรับการดูแลลูกเสือโคร่ง เจ้าหน้าที่ได้ทำการเพิ่มแคร่ไม้ สำหรับให้ลูกเสือโคร่งทั้งหมดภายในศูนย์ฯ ในคอกนอนเพื่อลดการกดทับของข้อศอกกับพื้นปูน ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะก้อนบวม (Hygroma) ขึ้นอีกได้ถ้าเสือนอนพื้นปูนเป็นประจำและนอนในระยะเวลานาน (เกิดการกดทับ) โดยลูกเสือโคร่งของกลาง ทั้ง 4 ตัว "ขิง ข้าว โขง และขวัญ"  ซึ่งอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก  ทุกตัว มีพฤติกรรมร่าเริง มีความสนใจสิ่งแวดล้อมและเจ้าหน้าที่ (พี่เลี้ยง) ตามปกติ ไม่พบความเครียด





คำที่เกี่ยวข้อง : #ลูกเสือ   #โขง  




Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.