กระทรวงแรงงานส่ง "8 ร่างแรงงานไทยจากอิสราเอล" กลับสู่อ้อมกอดครอบครัว พร้อมจัดการเงินช่วยเหลือ
20 ต.ค. 2566, 12:23
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.33 น.วันที่ 20 ตุลาคม 2566 เครื่องบินของสายการบิน El Al เที่ยวบินที่ LY083 ที่ลำเลียงร่างของแรงงานไทย 8 คนที่เสียชีวิตจากเหตุสงครามในอิสราเอล และผ่านการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลชุดแรกได้ถึงสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว ท่ามกลางครอบครัวที่มารอรับศพ เพื่อเตรียมนำไปประกอบพิธีทางศาสนาที่บ้านเกิด
บรรยากาศตั้งแต่ เวลา 07.30 น. บริเวณหน้าอาคารสำนักงานเขตปลอดอากร ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นจุดที่จะนำร่างของแรงงานไทย 8 ศพมาถึง จากนั้นจะมีการทำพิธีไว้อาลัยอีกครั้ง
สำหรับการรับร่างผู้เสียชีวิต ที่สนามบินจะไม่มีการแกะกล่องบรรจุร่าง แต่ผู้ขนย้ายจะดูจากเลขที่ใบขนย้าย และชื่อของผู้เสียชีวิตติดอยู่ที่หน้ากล่อง ก่อนส่งกลับไปยังภูมิลำเนา โดยมีเจ้าหน้าที่ของทีมสุริยา หีบศพ นำรถตู้ 8 คัน เพื่อรอลำเลียงผู้เสียชีวิตส่งมอบให้กับครอบครัวนำกลับไปทำพิธีทางศาสนาในภูมิลำเนา
สำหรับผู้เสียชีวิต 8 ศพที่กลับถึงไทย
1.นายพงษธร ขุนศรี ต.หนองยาง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา
2.นายจรูญ ชาติดำดี อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์
3.นายชัยรัตน์ สานุสันต์ อุดรธานี
4.นายอานันต์ เพชรแก้ว อ.จตุรัส จ.ชัยภูมิ
5.นายพงษ์พัฒน์ สุชาติ ต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
6.นายอนุชา โสภากุล จ.อุดรธานี
7.นายพงษ์เทพ กุสะรัมย์ จ.ขอนแก่น
8.นายธนกฤจฒ์ ปรากฎวงษ์ จ.สุโขทัย
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หลังจากร่างของแรงงานกลับไปที่ภูมิลำเนาแล้ว ทางกระทรวงแรงงาน จะส่งเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดเข้าแจ้งสิทธิประโยชน์ครอบครัวของแรงงานและช่วยอำนวยความสะดวกขั้นตอนเอกสารที่เสียชีวิต ทั้งของกระทรวงแรงงานดูแล และส่วนที่อิสราเอลชดเชย เบื้องต้นกรณีเสียชีวิต เงินสงเคราะห์ 40,000 บาทก่อน และกระทรวงแรงงานจะรีบประสานงานกับทางอิสราเอลเพื่อส่งเอกสารขอเงินชดเชยให้ผู้ที่ทำงานอย่างถูกกฎหมายกรณีเสียชีวิต ภรรยาจะได้รับเงินเดือนละ 40,000 บาทจนกว่าจะสมรสใหม่และบุตรจะได้รับเงินเดือนละประมาณ 8,000 ถึง 12,000 บาทจนกว่าจะอายุครบ 18 ปี ส่วนการขั้นตอนพิสูจน์อัตลักษณ์เบื้องต้นได้มีการพิสูจน์จากทางอิสราเอลมาแล้วแต่หากกลับมาที่ไทยและญาติร้องขอให้มีการพิสูจน์อัตลักษณ์เพิ่มเติมก็จะดำเนินการพิสูจน์ที่ไทยได้เลย
ขณะที่กระทรวงแรงงานได้ส่งน้ำดื่มและอาหารแห้งกว่า 4,000 ชุด ไปให้แรงงานไทยที่ยังอยู่ในอิสราเอลเพื่อประทังชีวิต และขณะนี้จะเร่งดำเนินการช่วยเหลือแรงงาน ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายให้ได้กลับมาประเทศไทยอย่างเร็วที่สุด ส่วนกรณีที่แรงงานถูกบังคับให้ทำงานต่อในระหว่างสงครามนั้นกระทรวงแรงงานได้ให้ทูตแรงงานในอิสราเอลประสานกับทางการอิสราเอลแล้วพร้อมกับกำชับไม่ให้เกิดเรื่องนี้เพราะเป็นการทำงานโดยไม่ได้สมัครใจซึ่งผิดกฎหมาย
สำหรับการนำส่งศพผู้เสียชีวิตทั้ง 8 คนกลับภูมิลำเนาในครั้งนี้ ส่งกลับสุโขทัย 1 คน นครราชสีมา 1 คน ชัยภูมิ1 คน ศรีษะเกษ 1 คน ขอนแก่น 2 คน และอุดรธานี 2 คน