เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ไข้หวัดใหญ่คร่าชีวิต! ใต้ตอนบนสัปดาห์เดียว 3 ราย ย้ำมาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด”


26 ต.ค. 2566, 15:09



ไข้หวัดใหญ่คร่าชีวิต! ใต้ตอนบนสัปดาห์เดียว 3 ราย ย้ำมาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด”




 

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เตือนระวังป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ในช่วงฤดูฝน แนะยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด”  ย้ำ 7 กลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้

นายแพทย์ไกรสร โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่พบมากในช่วงอากาศชื้นและเย็น ช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย จากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 ตุลาคม 2566 พบผู้ป่วยจำนวน 313,181 ราย เสียชีวิต 18 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุด 5 - 14 ปี ส่วนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 11 (ภาคใต้ตอนบน) พบผู้ป่วย จำนวน 21,256 ราย ล่าสุดพบผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว จำนวน 3 ราย ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 1 ราย และจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีประจำตัว และไม่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 5 - 9  ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ ภูเก็ต รองลงมาคือ ชุมพร พังงา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และระนอง 
นายแพทย์ไกรสร กล่าวเพิ่มว่า โรคไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง (น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ) ของผู้ป่วยผ่านการไอหรือจาม อาการของโรคจะคล้ายไข้หวัด แต่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อมาก ปวดศีรษะ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก และอ่อนเพลีย จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด”  ปิด คือปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย  ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของร่วมกัน  เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือไปในสถานที่แออัด และ หยุด คือเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรม แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ 
ย้ำ 7 กลุ่มเสี่ยง ควรได้รับวัคซีน ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป  2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี  3. ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน  4. ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6. โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7. โรคอ้วน คือผู้ ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ มีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.