เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"สมศักดิ์" ถก กนช. นัดแรก เคาะมาตรการแล้ง 66/67 เตรียมรับมือเอลนีโญ


26 ต.ค. 2566, 15:40



"สมศักดิ์" ถก กนช. นัดแรก เคาะมาตรการแล้ง 66/67 เตรียมรับมือเอลนีโญ




วันนี้ ( 26 ต.ค.66 ) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2566 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ เป็นต้น รวมทั้งผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า ในวันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของ กนช. ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ในคณะรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้ดำเนินไปอย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบต่อ (ร่าง) นโยบายการบริหารทรัพยากรน้ำของ กนช. โดยมอบหมาย สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดขับเคลื่อนแผนงาน โครงการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ. 2566-2580) ให้ครอบคลุมนโยบายดังกล่าว และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมกันนี้ ได้ร่วมกันพิจารณาในประเด็นสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้เงื่อนไขของสภาวะเอลนีโญ ซึ่งจะมาถึงในช่วงเดือน พ.ย. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 66/67 และให้ สทนช. เสนอ ครม. เพื่อทราบต่อไป พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 66/67 โดยรายงานผลการดำเนินการให้ สทนช. ทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง อีกทั้ง ได้เห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 67 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำหรือเสี่ยงภัยแล้ง ส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ รายได้ และการจ้างแรงงานให้กับประชาชน โดยให้หน่วยงานจัดเตรียมแผนงานโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ทันต่อสถานการณ์และเป็นไปตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
 
​นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบต่อแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำเสนอ จำนวน 10 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก คงเหลือที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการลุ่มน้ำอีก จำนวน 12 ลุ่มน้ำ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้นำแผนดังกล่าว ใช้ร่วมกับมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 66/67 และแผนปฏิบัติการของหน่วยงาน รวมถึงแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 เพื่อเตรียมการรองรับภาวะน้ำแล้ง โดยให้คณะกรรมการลุ่มน้ำติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามแผน และทบทวนแผนให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
 
​รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการโครงการปรับปรุงคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา จ.สุโขทัย ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (ปี 68-73) เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยในลุ่มน้ำยมช่วง อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง และ อ.เมืองสุโขทัย โดยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถบริหารจัดการร่วมกับระบบชลประทานในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำรอง สำหรับใช้อุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง โดยให้กรมชลประทาน เร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านการออกแบบในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้ดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วม การชดเชยผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม รวมถึงเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการอย่างรอบด้านด้วย และให้เสนอต่อ ครม. ต่อไป

ด้าน ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบต่อหลักเกณฑ์ โครงสร้างและขั้นตอนการปฏิบัติงาน ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เนื่องด้วยกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำตามมาตราดังกล่าว แต่เดิมเป็นการดำเนินการเฉพาะปัญหาอุทกภัยเพียงอย่างเดียว สทนช. จึงได้ทบทวนและหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการ เห็นควรให้มีการดำเนินการให้ครอบคลุมทุกปัญหาด้านน้ำ ทั้งปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำ และได้จัดทำหลักเกณฑ์โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ซึ่งเป็นไปตามลักษณะความรุนแรง โครงสร้างและขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพื่อใช้สำหรับการแก้ปัญหาวิกฤติน้ำในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.