"รัฐบาล" เคาะ 2 มาตรการช่วยเหลือแรงงานไทยที่กลับมาจากอิสราเอล
1 พ.ย. 2566, 10:25
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยข้อความสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ซึ่งระบุให้แรงงานไทยในอิสราเอลที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศไทย ด้วยเที่ยวบินอพยพ ให้เดินทางมาที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เทลอาวีฟ ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เวลา 17.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงเทลอาวีฟ ซึ่งช้ากว่าไทย 5 ชั่วโมง) ซึ่งต่อจากนี้ การอพยพคนไทยอาจไม่ใช้เที่ยวบินเช่าเหมาลำ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้อพยพ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ โพสต์ข้อความระบุถึงแรงงานไทยในอิสราเอลที่ประสงค์เดินทางกลับกับเที่ยวบินอพยพให้เดินทางมาที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เทลอาวีฟ ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เวลา 17.00 น. โดย กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า เที่ยวบินอพยพคนไทยหลังจากนี้ยังมีอย่างต่อเนื่อง แต่อาจไม่ใช่การเช่าเหมาลำ ซึ่งต้องพิจารณาจากจำนวนคนอพยพ หากมีน้อยก็ไม่สามารถอพยพแบบเหมาลำได้ ส่วนแรงงานไทย ที่พร้อมจะเดินทางกลับเอง ยังสามารถเบิกจ่ายค่าเครื่องบิน ตามนโยบายรัฐบาล
พร้อมกันนี้ โฆษกรัฐบาลชี้แจงข้อมูลจากกระทรวงแรงงานถึงสิทธิประโยชน์ตามมาตรการเยียวยา สำหรับคนที่เดินทางกลับมาจากอิสราเอล โดยจะมีรถโดยสารไปส่งยังสถานีขนส่งหมอชิต เพื่อให้กลุ่มคนไทยสะดวกต่อการเดินทางกลับภูมิลำเนา อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคนที่ซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินเดินทางกลับมาเองจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการเยียวยาเช่นกัน
ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เปิดให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอล ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล โดยเอกสารและหลักฐานการยื่นขอรับค่าใช้จ่าย ต้องเป็นเอกสารค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
ส่วนกลางสามารถยื่นได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือแรงงาน และติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล บริเวณชั้น 1 อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพ และส่วนภูมิภาค สามารถยื่นได้ที่ สำนักงานแรงงานจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
เอกสารประกอบด้วย
1. บอร์ดดิ้งพาส หรือ ตั๋วเครื่องบิน/ใบเสร็จรับเงิน หรือ เอกสารการจ่ายเงิน
2. สำเนาบัตรประชาชน
3. สำเนาหนังสือเดินทาง/เอกสารเดินทาง
4. สำเนาสมุดบัญชีธนาคารผู้รับบริการ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง มติครม. (31 ตุลาคม 2566) เห็นชอบโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) และอนุมัติวงเงินงบฯ วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท จากงบฯ ร่ายจ่ายประจำปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับไทยมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการเริ่มต้นประกอบอาชีพ หรือแบ่งเบาภาระหนี้สิน
โครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล)
-วัตถุประสงค์เพื่อชำระหนี้กู้ยืมสำหรับการไปทำงานที่อิสราเอลและ/หรือเพื่อลงทุนประกอบอาชีพ (ข้อมูลจาก กรมการจัดหางาน ณ เดือน ก.ย. 2566 มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอล 25,887 คน)
-เป็นผู้ที่ไปทำงานที่อิสราเอล อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาที่ชำระเงินกู้แล้วต้องไม่เกิน 60 ปี (ประมาณ 12,000 ราย)
-ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท / สินเชื่อต่อรายไม่เกิน 150,000 บาท ลูกค้ารับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี / ระยะเวลาชำระเงินคืนงวดสูงสุดไม่เกิน 20 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 งวดแรก
-ระยะเวลาการยื่นขอสินเชื่อ ตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติ (31 ต.ค. 2566) – 30 มิ.ย. 2567 หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการฯ
-งบประมาณ รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็น
(1) ชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 400 ลบ. (2,000 ลบ. X ร้อยละ 20 x ร้อยละ 100) โดยแบ่งเป็น ธ.ออมสิน 200 ลบ. และ ธ.ก.ส. 200 ลบ.
(2) ชดเชยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ของวงเงินสินเชื่ออนุมัติเป็นระยะเวลา 20 ปี รวมทั้งสิ้น 800 ลบ. (2,000 ลบ. X ร้อยละ 2 x 20 ปี) โดยแบ่งเป็น ธ.ออมสิน 400 ลบ. และ ธ.ก.ส. 400 ลบ.
“นายกรัฐมนตรีเข้าใจสถานการณ์ของแรงงานคนไทยทุกคน มีความห่วงใยเป็นอย่างมาก และประสงค์ให้แรงงานไทยในอิสราเอลพิจารณาให้ถี่ถ้วน จึงได้สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีแนวทางในการทำงานออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานไทย ซึ่งอีกประเด็นที่นายกรัฐมนตรีห่วงใยคือ ต้องเร่งหางานให้ผู้ที่เดินทางกลับไทยมาแล้วมีงานทำ ในสายงานที่ตนเองถนัดและพัฒนาเป็นประโยชน์ได้” นายชัย กล่าว