เชิญชม ! "ดาวพฤหัสบดี" ใกล้โลกที่สุดในรอบปี 3 พ.ย. นี้
2 พ.ย. 2566, 14:36
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Jupiter Opposition) หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 595 ล้านกิโลเมตร
ในวันดังกล่าว เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างทางทิศตะวันออก สังเกตได้ด้วยตาเปล่า นานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว ที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป จะสามารถสังเกตเห็น ดวงจันทร์กาลิเลียน ทั้ง 4 ดวง ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนีมีด คัลลิสโต รวมถึง แถบเมฆ ที่สวยงามของดาวพฤหัสบดี และหากใช้กำลังขยาย 100 เท่าขึ้นไป จะสามารถเห็น จุดแดงใหญ่ พายุหมุนยักษ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกถึง 1.3 เท่า ได้อย่างชัดเจน
NARIT เตรียมจัดกิจกรรม "เปิดเทศกาลชมดาว…รับลมหนาว ในคืนดาวพฤหัสบดีใกล้โลก" คืนวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ประเดิมอีเวนต์แรกของฤดูกาลดูดาวหน้าหนาว ชวนส่องดาวพฤหัสบดีผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว จนถึงขนาดใหญ่ 0.7 เมตร
พบกันได้ที่จุดสังเกตการณ์หลัก 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา และขอนแก่น ตั้งแต่เวลา 18:00 - 22:00 น. ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือรับชม LIVE ปรากฏการณ์ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ตั้งแต่เวลา 19:00 น. เป็นต้นไป