เตือนภัย ! พบ "ทองปลอม" รูปแบบใหม่ ตรวจสอบยาก-ไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า
6 พ.ย. 2566, 11:09
วันที่ 6 พ.ย. 2566 นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า ได้รับรายงานพบกลโกงใหม่ในการขายทองคำปลอม โดยมิจฉาชีพจะใช้วิธีการนำผงโลหะทังสเตน ซึ่งมีน้ำหนักใกล้เคียงกับทองคำไปผสมในก้อนโลหะทองคำ และหลอมเป็นทองคำ รวมถึงทำเป็นตัวเรือน โดยนิยมทำเป็นลักษณะทองรูปพรรณเก่าเก็บ ทำให้ผู้รับซื้อไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า เพราะการตรวจสอบทั่วไป รวมถึงห้องปฏิบัติการตรวจสอบขนาดเล็กที่มีเครื่องมือไม่เพียงพอ ทำให้ยากต่อการตรวจสอบส่วนผสมดังกล่าว
“การตรวจสอบว่าเป็นทองคำแท้ จะต้องนำไปหลอมเพื่อแยกธาตุเคมี หรือการตัดก้อนทองคำ เพื่อดูความเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งหากเป็นทองแท้ เมื่อตัดเนื้อทองออกมา จะเห็นได้ว่าผิวที่ตัดนั้น มีความเป็นเนื้อเดียวกัน มันวาวเป็นประกายทองคำ แต่หากตัดผ่าก้อนทองคำแล้วเห็นว่ามีการแยกตัวของชั้นโลหะ มั่นใจได้เลยว่ามีการผสมโลหะอื่น ๆ เข้าไป”นายสุเมธกล่าว
ทั้งนี้ การปลอมทองคำ เริ่มมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบ เพราะปัจจุบันทองคำมีมูลค่าสูงกว่าบาทละ 34,000 บาท ทำให้มิจฉาชีพเข้ามาหาประโยชน์เพิ่มมากขึ้น โดยมีการปลอมทองคำในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ทองเกรด A , ทองไมครอน , ทองโคลนนิ่ง , ทองยัดไส้ และเครื่องประดับทองปลอม และล่าสุดการนำผงทังสเตน มาใส่ไว้ด้านใน และด้านนอกเป็นทองคำแท้ ยิ่งทำให้ตรวจสอบยากขึ้น และมีร้านทองคำ มีโรงรับจำนำ ที่ถูกหลอกขายทองคำปลอมเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
นายสุเมธกล่าวว่า ในการซื้อขายทองคำหรือต้องการซื้อทองคำเพื่อลงทุน GIT มีข้อแนะนำให้เลือกซื้อจากร้านค้าที่ได้ใบรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ซื้อไปมีคุณภาพ มาตรฐาน หรือเลือกซื้อสินค้าในร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ในโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ ผ่านใบรับรอง GIT หรือที่รู้จักในชื่อโครงการ Buy With Confidence (BWC) เพราะร้านเหล่านี้ มั่นใจได้ว่าขายสินค้าดี มีคุณภาพถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนด
ส่วนการตรวจสอบทองคำ ปัจจุบันตรวจสอบเพียงตาเปล่าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ โดย GIT ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ มีเครื่องมือขั้นสูงที่สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน เช่น กรณีนี้สามารถตรวจสอบว่าเป็นทองคำแท้หรือทองคำปลอมก่อนที่จะรับซื้อโดยไม่ต้องทำลายชิ้นงานด้วยเทคนิคเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ (XRF) ที่เป็นเทคนิคการวิเคราะห์ชนิดของธาตุและปริมาณธาตุในสารตัวอย่าง โดยวิธีการตรวจสอบนี้ ได้การรับรองกับสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมแห่งชาติ (สมอ.) ในขอบข่ายการวิเคราะห์หาเปอร์เซ็นต์ทองคำ (Au) ที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้