ชื่นชมผลงานดีอี แก้ภัยออนไลน์ ปิดกั้นเว็บพนัน ดันไทยศูนย์กลางภูมิภาคด้าน AI&Cloud
8 พ.ย. 2566, 15:11
วันนี้ ( 8 พ.ย.66 ) นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย 5 ผลงานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ในรอบ 2 เดือน ชื่นชมเป็นผลงานสำคัญที่เป็นรูปธรรม นำระบบดิจิทัลมาช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาภัยออนไลน์ เว็บพนันออนไลน์ รวมทั้งเดินหน้าการจัดทำระบบเตือนภัย (Emergency Alert) แบบเจาะจง โดยใช้เทคโนโลยี Cell Broadcast ตลอดจนการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ด้าน AI & Cloud และ โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงผลงานเรื่องแรกของ DE คือ การจัดตั้งศูนย์ AOC 1441 แก้ปัญหาภัยออนไลน์ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ Anti Online Scam Operation Center : AOC 1441 ให้บริการ 24 ชั่วโมง เป้าหมาย 1) อายัดบัญชีของคนร้าย ให้ผู้เสียหายทันที 2) ติดตามสถานะการแก้ไขปัญหาให้ผู้เสียหายทุกขั้นตอน 3) เร่งการคืนเงินให้ผู้เสียหาย และ 4) เพิ่มประสิทธิภาพการจับกุม ดำเนินคดีและการขยายผลคดี โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยงาน บูรณาการข้อมูล และร่วมทำงานทันทีทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องเมื่อได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย โดยหกวันแรกที่ให้บริการ (1 - 6 พ.ย. 2566) ประชาชนโทรเข้า 15,000 สาย และช่วยอายัดบัญชีใน 1 ชม. 678 บัญชี
“ประชาชนส่วนใหญ่โทรติดต่อขอคำปรึกษา และ AOC 1441 ได้ช่วยอายัดบัญชีจบภายใน 1 ชม. ซึ่งภาพรวม AOC 1441 สามารถให้ข้อมูลหรือช่วยเหลือผู้ติดต่อเข้ามาได้ดี น่าพึงพอใจ โดยกระทรวง DE มั่นใจว่าศูนย์ AOC สายด่วน 1441 โดยความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ช่วยแก้ปัญหาภัยออนไลน์ให้ประชาชนได้ ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้บังคับใช้กฎหมาย จะสามารถดำเนินคดีหาตัวผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงผลงานเรื่องที่ 2 การแก้ปัญหาเว็บพนันออนไลน์ ว่า ระหว่างวันที่ 1 - 30 ตุลาคม 2566 ได้ปิดกั้นเว็บพนัน 2,236 เว็บ เฉลี่ยวันละ 72.1 เว็บ เพิ่มขึ้น 12 เท่าตัวจากปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค. 65 - 30 ก.ย. 66) ปิดกั้นเฉลี่ยเดือนละ 172 เว็บ หรือเฉลี่ยวันละ 5.6 เว็บ การเพิ่มของการปิดกั้นนี้ เกิดจากการปรับเปลี่ยนวิธีทำงาน โดยเน้นใช้บุคลากรกระทรวงดีอี ทำเรื่องการปิดกั้น เป็นหลัก นอกจากนี้ ประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับกุมต่อเนื่อง จับกุมผู้ต้องหา 6,215 คน ตั้งแต่ ม.ค. 65 - ต.ค. 66
สำหรับผลงานเรื่องที่ 3 การจัดทำระบบเตือนภัย (Emergency Alert) แบบเจาะจง โดยใช้เทคโนโลยี Cell Broadcast ดีอี ได้สรุปทางเทคนิคกับสำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการมือถือแล้ว และมีแผนนำร่องการใช้ Cell Broadcast ใน กทม. กลางเดือน มกราคม 2567 ก่อนใช้ระบบ Cell Broadcast ทั้งประเทศในปี 2567 ทั้งนี้ Cell Broadcast เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า SMS โดยจะแจ้งเตือนแบบเจาะจงได้ทันที และมีการเตือนได้หลายรูปแบบ เช่น การสั่นของโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสาร การเด้ง pop-up ของข้อความ โดย Cell Broadcast คือระบบการส่งข้อความแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสาร ในพื้นที่ที่มีการติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ซึ่งจะทำให้การส่งข้อมูลรวดเร็วและครอบคลุมทั้งพื้นที่ และ Cell Broadcast ไม่ต้องการเบอร์โทรศัพท์ ทำให้รวดเร็วกว่าการส่ง SMS มาก นอกจากนี้ ระบบ Cell Broadcast สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
ขณะที่ผลงานเรื่องที่ 4 การพัฒนากำลังคนดิจิทัล ด้าน AI & Cloud สร้างรายได้คนไทย 60,000 ล้านบาท ใน 5 ปี ด้วยความร่วมมือกับ Huawei ที่ได้ตอบรับคำเชิญ รมว. DE ในการลงทุนพัฒนากำลังคนด้าน AI Cloud ซึ่งมีเงินเดือนหรือรายได้สูง จำนวน 50,000 คน ใน 5 ปี สำหรับประเทศไทย ซึ่ง DE ประเมินว่า โครงการนี้สร้างรายได้ให้ผู้ที่มีทักษะ Al & Cloud กลุ่มนี้ ถึง 60,000 ล้านบาทใน 5 ปี แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้าน AI และ Cloud และจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้าน AI & Cloud
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงผลงานของ DE เรื่องที่ 5 โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) One Tambon One Digital (OTOD) ชุมชนโดรนใจ เริ่ม พ.ย. 66 นี้ ดำเนินการครบ 500 ชุมชน ประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร ให้บริการกว่า 4 ล้านไร่ทั่วประเทศ ใน ต.ค. 2567 เกิดการยกระดับทักษะเกษตรกรกว่า 1,000 คน เกิดธุรกิจบริการโดรน 50 ชุมชน เกิดอาชีพใหม่ช่างโดรนชุมชน และเกิดศูนย์สอบอนุญาตการบินโดรน 5 ภูมิภาค เกิดรายได้ภาคเกษตรไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาทต่อปี
“การดำเนินงานดังกล่าวของกระทรวง DE เป็นผลงานสำคัญที่เป็นรูปธรรม สามารถนำระบบดิจิทัลมาช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาภัยออนไลน์ให้ประชาชนได้ ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาระบบดิจิทัลของประเทศ รวมทั้ง รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) National Blockchain และการเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่าง ๆ ภาครัฐและสามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวง DE จะเดินหน้าพัฒนาระบบดิจิทัลของประเทศให้เป็นไปตามที่ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ต่อไป” นายสัตวแพทย์ชัย กล่าว