เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



กทม.มุ่งพัฒนาระบบเฝ้าระวังคาดการณ์ฝุ่น PM 2.5 หาแนวทางป้องกันแบบครบวงจร


9 พ.ย. 2566, 15:41



กทม.มุ่งพัฒนาระบบเฝ้าระวังคาดการณ์ฝุ่น PM 2.5 หาแนวทางป้องกันแบบครบวงจร




วันนี้ ( 9 พ.ย.66 ) นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงแนวทางและมาตรการการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นตามการคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษ ที่ระบุไว้ว่า PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 9 – 13 พฤศจิกายน นี้ โดยจะมีความเข้มข้นของฝุ่นละอองสูง ในระดับสีส้มเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี และนนทบุรี ว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายที่หลากหลายในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งในขณะนี้นั้นกรุงเทพมหานครยังคงยึดแนวทางเดิมในการเฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยในเบื้องต้นได้มีการพัฒนาตัวตรวจจับ เรดาร์ ให้มีความแม่นยำในการตรวจจับ และการคาดการณ์มากขึ้น ในระยะล่วงหน้า 3 วัน มีการปรับปรุง พัฒนา Application AirBKK ให้สามารถดู หรือใช้งานได้ง่ายขึ้น หรือแม้แต่การจัดทำฐานข้อมูล Digital พื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK Risk Map) ให้ชัดเจนและละเอียดยิ่งขึ้น // อีกทั้งกรุงเทพมหานครยังมีการพิจารณาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพิ่มเติม คือการเพิ่มการเฝ้าระวัง ตรวจจับควันดำรถยนต์ รถบรรทุกขนาดใหญ่ ตามไซด์งานต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการขอความร่วมมือจากทางรัฐบาลในการสร้างความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผลักดันเมืองเข้าสู่เขตการปล่อยมลพิษต่ำ (Zero Emission Zone) ในการควบคุมหรือจำกัดยานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลพิษไม่ให้สามารถวิ่งได้หากไม่แก้ไข // เช่นเดียวกันกับรถขยะของกรุงเทพมหานคร หรือแม้กระทั่งรถร่วมจาก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. (BMTA.) ที่จะมีการปรับให้เป็นรถระบบไฟฟ้าทั้งหมดซึ่งจะรวมไปถึงรถขนาดเล็กเช่นกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่กรุงเทพมหานครมีแนวทางที่จะประสานสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการผลักดันให้ประชาชน และกลุ่มพนักงานขนส่งอาหารและพัสดุ (ไรเดอร์) หรือแม้กระทั่งผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ (วินมอเตอร์ไซค์) ให้หันมาใช้รถจักยานยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น

นายเอกวรัญญู โฆษก กทม. กล่าวเพิ่มว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้มีการคิดวิธีรับมือและเฝ้าระวังปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไว้ โดยแบ่งเป็น 3 Part ได้แก่ Part การกำจัดต้นตอ เช่น โครงการนักสืบฝุ่น ที่จะสร้างความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการสืบเสาะ ค้นหาต้นกำเนินของฝุ่น เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดPart ต่อมา คือ การป้องกัน การแก้ปัญหาในแต่ละจุด เมื่อสืบทราบแล้วว่าฝุ่นเกิดจากแหล่งไหน เช่น หากฝุ่นเกิดจากการเผาจากภาคการเกษตร กรุงเทพมหานครก็จะขอความร่วมมือในการงดการเผา และแนะวิธีการฝังกลบ หรือสนับสนุนรถอัดฟางลงไป เพื่ออัดก้อนกองหญ้าหรือกองฟางที่รอเผา นำไปขายต่อให้กับผู้รับซื้อเพื่อสร้างรายได้ และทำประโยชน์ในส่วนอื่นต่อแทน หรือแม้กระทั่งการสร้างความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก ตำรวจ ในแก้ปัญหา ตรวจจับควันดำของรถยนต์ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น หรือแม้กระทั่งการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ และเครื่องกรองอากาศในห้องเรียนของนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อสุขภาพของเด็กนักเรียน // และ Part สุดท้ายคือ การดูแลประชาชน โดยสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดตั้ง คลินิกมลพิษทางอากาศ PM 2.5 (ศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่นละออง PM 2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)) ไว้ 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง, โรงพยาบาลตากสิน, โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์, โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ, โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์, โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร, โรงพยาบาลราชพิพัฒน์, และโรงพยาบาลสิรินธร เพื่อความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษาในกรณีที่ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งหากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ได้รับความร่วมมือจากทางรัฐบาลจะส่งผลให้สามารถดูแลประชนในกรุงเทพมหานครได้ง่ายยิ่งขึ้น

สำหรับประชาชนทั่วไปควรลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน หากเป็นกลุ่มเปราะบางหรือสูงวัยไม่ควรออกจากบ้าน และประชาชนกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว หากมีอาการ ไอ จาม มีน้ำมูก หายใจลำบาก หอบเหนื่อย มีผื่นแดงตามร่างกาย ตาแดง ให้รีบพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร จะแจ้งเตือนรวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน ผ่านทาง Application AirBKK www.airbkk.com, Application Air4Thai, www.air4thai.com, Facebook เพจสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร , Facebook เพจกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง, สำนักสิ่งแวดล้อม และ Facebook เพจ กรุงเทพมหานคร รวมถึง LINE ALERT และ LINE OA @airbangkok กรณีพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแส ผ่านทาง Traffy Fondue ได้ตลอด 24 ชั่วโมง









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.