เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ผู้แทนวัฒนธรรม 10 ชาติ" มอบโล่แต่งตั้งให้พระครูโกศลสิกขกิจเป็นผู้ประกาศสันติภาพโลก


12 พ.ย. 2566, 21:09



"ผู้แทนวัฒนธรรม 10 ชาติ" มอบโล่แต่งตั้งให้พระครูโกศลสิกขกิจเป็นผู้ประกาศสันติภาพโลก




เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2566  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาทมวัดไพรพัฒนา ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ศ.ดร.อัจฉรา ภาณุรัตน์  ประธานกรรมการเทศกาลศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนานาชาติแห่งประเทศไทย (THAILAND IFF) ได้นำคณะผู้แทนวัฒนธรรม จำนวน 10 ประเทศ  ประกอบด้วย ประเทศฮังการี่ เกาหลี บัลกาเรีย รัสเชีย บัลแกเรีย อินเดีย  อินโดนีเชีย กัมพูชา เนปาล และไทย มาร่วมประชุมกันและได้ร่วมกันลงนาม MOU เพื่อการร่วมกันในการแลกเปลี่ยนศิลปะพื้นบ้านนานาชาติ และยังมีการลงนาม MOU ที่จะร่วมมือกันทางด้านการศึกษา เนื่องจาก  PROF.DR.MIKLOS  BANHIDI หัวหน้าคณะผู้แทนวัฒนธรรมจากประเทศฮังการี่ เป็นอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยของประเทศฮังการี่  จากนั้น  ตัวแทนของผู้แทนวัฒนธรรม 10 ประเทศ ได้มอบโล่แต่งตั้งให้พระครูโกศลสิกขกิจ เป็นผู้ประกาศสันติภาพโลก โดยมี จ่าเอกสมควร  สิงห์คำ นายอำเภอภูสิงห์  เป็นตัวแทนของ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ในการร่วมลงนามในครั้งนี้ด้วย  โดยพระครูโกศลสิกขกิจ ได้มอบวัตถุมงคลหลวงปู่สรวง และใบประกาศเกียรติคุณบัตร เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณที่คณะผู้แทนทั้ง 10 ประเทศ ได้มาร่วมกิจกรรมการแสดงเทศกาลศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนานาชาติแห่งประเทศไทย:วัดไพรพัฒนา ครั้งที่ 2  ซึ่งจัดงานนี้ขึ้นในระหว่างที่ 11-12 พ.ย. 2566 โดยมี นายสำเร็จ  ไพรบึง  นายก อบต.ไพรพัฒนา พร้อมด้วย นายสมยศ  พันธ์มา  รอง ผอ.วิทยาลัยเทคโนโลยีหลวงปู่สรวง นำคณะกรรมการมูลนิธิหลวงปู่สรวง คณะครู น.ศ.วิทยาลัยเทคโนโลยีหลวงปู่สรวงวัดไพรพัฒนา มาร่วมพิธีในครั้งนี้

ศ.ดร.อัจฉรา ภาณุรัตน์  ประธานกรรมการเทศกาลศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนานาชาติแห่งประเทศไทย (THAILAND IFF)  กล่าวว่า  กิจกรรมในวันนี้เริ่มต้นก็คือตักบาตร เป็นการสอนให้เขารู้ว่าการให้ทานทำให้เราเกิดความสุขและความสุขอันนั้นมันจะพัฒนาไปสู่ความสงบ สันติภาพ เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่เราได้พัฒนา วัฒนธรรม ศาสนาเข้าสู่สันติภาพ เพราะปัจจุบันทุกท่านคงทราบแล้วว่ามันวุ่นวายมากในประเทศทั่วโลก มันทำให้ทุกคนเกิดความทุกข์และไม่มีที่ใดที่จะสามารถขจัดความทุกข์ได้ การใช้วัฒนธรรมมาบูรณาการกับศาสนา  โดยอาคันตุกะศิลปินจากประเทศฮังการี่ เกาหลี  บัลกาเรีย รัสเซีย บัลแกเรีย อินเดีย  อินโดนีเชีย กัมพูชา และเนปาล   ได้รวมตัวกันใส่บาตรพระเกือบ 100 รูป จากนั้นเขาก็ออกมานั่งฟังการแสดงธรรมะ ในบางคำแม้ว่าเป็นภาษาที่ฟังไม่ออก แต่คลื่นเสียงทำให้จิตเราสงบเพราะเป็นคลื่นเสียงภาษาอันศักดิ์สิทธิ์ของทุกศาสนาจะสามารถทำให้เรามีความสุข หลังจากนั้น ศิลปินทุกท่านก็จะถ่ายรูปที่มณฑปหลวงปู่สรวง ซึ่งคราวที่แล้วได้เดินทางมาจัดการประกาศให้มณฑปและสรีระสังขารของหลวงปู่สรวง เป็นที่กราบไหว้บูชาของ 2 ประเทศนี้ ให้เป็นมรดกล้ำค่าสู่สาธารณะชนโลก แล้วจากนั้นทุกคนก็ได้ภาพที่เป็นแบคกราวด์อันนี้เป็นมณฑปอันศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนจะต้องเคารพบูชา และเขาก็จะนำกลับไปที่บ้านเขา



ศ.ดร.อัจฉรา ภาณุรัตน์  กล่าวต่อไปว่า จากนั้นเราก็เริ่มพิธีเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติปราชญ์ของเราก็คือ เจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา พระครูโกศลสิกขกิจ ซึ่งท่านเป็นพระผู้ประเสริฐ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านเป็นศิษย์หลวงปู่สรวง และท่านก็พยายามสร้างทุกอย่างที่ใช้ชื่อหลวงปู่สรวง ให้จารึกอยู่ในแผ่นดินทั้งประเทศไทย และกัมพูชา เพราะฉะนั้นกิจกรรมของท่านจึงมีชาวกัมพูชามาเกินครึ่งหนึ่ง ในวันนี้ก็ได้มีมูลนิธิส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมสุรินทร์ และกิจกรรมของเทศกาลการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนานาชาติแห่งประเทศไทย   ซึ่งได้จัดมาทั้งปีนี้เป็นปีที่ 20 แล้ว ในปีนี้มีผู้ลงทะเบียนมา 719 คน จาก 22 ประเทศ ด้วยภูมิศาสตร์แล้วก็วัฒนธรรมของแต่ละหมู่บ้านที่เราจะเข้าถึงหมู่บ้านสันติภาพได้ ส่วนใหญ่จะมีรีสอร์ทจำกัด เราก็เลยระบุไว้ว่าสัปดาห์ละ 100 คน ที่จะเดินทางมาได้ เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ก็เป็นสัปดาห์ที่ 4 สัปดาห์แรกเราไปที่ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง สัปดาห์ที่ 2 สมุย จ.สุราษฎร์ธานี สัปดาห์ที่ 3 จ.สมุทรปราการ พัทยา และ จ.ปราจีนบุรี และสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ 4 ก็เริ่มที่ อ.ละหารทราย หมู่บ้านช้าง และจบที่วัดไพรพัฒนา  จ.ศรีสะเกษ เป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ ที่พระครูโกศลสิกขกิจได้มอบความสุขให้ทุกคน เพื่อให้ได้สัมผัสให้รู้ว่าที่นี่เท่านั้นที่ให้ความสุข ที่นี่คือตัวแทนของพุทธศาสนาและที่นี่เป็นแบบอย่างของการจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างความเป็นสากล แต่ไม่ได้ทิ้งความเป็นท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็ลดความแตกต่างของคนทั้งหมด ให้ทุกคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ศ.ดร.อัจฉรา ภาณุรัตน์  ยังกล่าวด้วยว่า จากนั้นทางมูลนิธิและอาคันตุกะศิลปินก็ได้อ่านสดุดีชีวประวัติและผลงานของพระครูโกศลสิกขกิจ รวมทั้งชุมชนไพรพัฒนาที่ทุกคนกล่าวถึงว่า อาสาสมัครมากมายทั้งครู ทั้งนักเรียน ทั้งชาวบ้าน ต่างก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือมาเตรียมกิจกรรม ทั้งหมดเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้สากล ความคิดสากล ซึ่งเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันนี้เป็นความดีงามที่หลวงปู่สรวง และพระครูโกศลสิกขกิจได้มีอิทธิพล หรือมีพาวเวอร์ เรียกว่า ซอฟพาวเวอร์ สำหรับทำให้ชายแดนตรงนี้ไม่ใช่ชายแดนที่แยกกันโดยเด็ดขาด แต่เป็นชายแดนระหว่างพี่และน้องกัน ผู้แทนวัฒนธรรมทั้ง 10 ประเทศจึงได้มอบโล่แต่งตั้งให้พระครูโกศลสิกขกิจเป็นผู้ประกาศสันติภาพโลก ต่อไปนี้พระครูโกศลสิกขกิจ นอกจากจะเผยแผ่พุทธศาสนาแล้ว ท่านจะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการเป็นแบบอย่างของผู้ประกาศสันติภาพโลก เพื่อให้ความหมายแก่คนทั้งโลกที่ไม่เข้าใจคำว่าสันติภาพคืออะไร จะต้องมาถามพระครูโกศลสิกขกิจ  และสุดท้ายก็มีกิจกรรมที่ให้อาคันตุกะศิลปินได้แลก เปลี่ยน เขาก็เริ่มต้นที่ประเทศบัลกาเรีย ที่ได้กล่าวถึงความเรียกร้องหรือความต้องการที่จะให้โลกนี้สงบสุข ต่อมาก็ประเทศอินเดีย และประเทศฮังการี พระครูโกศลสิกขกิจจึงสรุปรวมว่า สันติภาพในพระพุทธศาสนามีทุกช่วงทำนองของการประพฤติปฏิบัติในวินัยของพระพุทธศาสนานั่นเอง เพราะฉะนั้นเราโชคดีที่เราเป็นคนไทย และเราอยู่ในวิถีไทย วิถีพุทธ เราได้สัมผัสตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่คลอดมาแล้วว่า ความสงบสุข หรือคำสอนของพระพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างไร ก็ได้ขอฝากประชาชนชาวไทยทุกคนว่ากิจกรรมวันนี้และวัดไพรพัฒนานี้ เป็นวัดแห่งสันติสุข

 







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.