รองพ่อเมืองศรีสะเกษถกกางเกงสวมรองเท้าบูทลุยปลูกหอมแดง เสริมสิริมงคล
13 พ.ย. 2566, 18:00
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 13 พ.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านส้มป่อย หมู่ที่ 17 ต.ส้มป่อย อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ นายนพ พงศ์ผลาดิสัย รอง ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “ปลูกรักด้วยใจ รักใครให้หอม” ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การเข้าสู่ฤดูกาลผลิตหอมแดงศรีสะเกษ ปีการผลิต 2566/67 และการสานพลังขับเคลื่อนการพัฒนา จ.ศรีสะเกษ ในการส่งเสริมการผลิตหอมแดงศรีสะเกษคุณภาพ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมี นายนาวิน ป้องกัน เกษตรและสหกรณ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมีเกษตรกรในพื้นที่ อ.ยางชุมน้อย และ อ.ราษีไศล จำนวนประมาณ 100 คน เข้าร่วมกิจกรรม ในครั้งนี้
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การแสดงรำพื้นบ้าน ของชมรมจิตอาสาผู้สูงวัย ในพื้นที่ ต.ส้มป่อย อ.ราษีไศล พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU ซื้อ-ขาย หอมแดงศรีสะเกษ ระหว่าง บริษัท ดีมาฟูดส์ จำกัด อ.ยางชุมน้อย โดย น.ส.สุจิตตา ทองอินทร์ กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนออมทรัพย์พัฒนาสตรีบ้านเมืองแสน อ.ยางชุมน้อย และมอบหนังสืออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) หอมแดงศรีสะเกษ และกระเทียมศรีสะเกษ จำนวน 10 ราย หลังจากพิธีการดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว รอง ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่แปลงทางการเกษตร เพื่อร่วมกันปลูกหอมแดง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ อันขึ้นชื่อของ จ.ศรีสะเกษ ด้วยตนเอง ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างมาก
นายนพ พงศ์ผลาดิสัย รอง ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า นโยบายการพัฒนา จ.ศรีสะเกษ วาระเกษตรบูรณาการ มุ่งเน้นในการเพิ่มผลผลิตการเกษตร พัฒนาคุณภาพ ลดต้นทุนสร้างมูลค่าเพิ่มและแปรรูปต่อยอดเชิงอุตสาหกรรม เพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยตลาดนำนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้ภาคเกษตร ภาคเกษตรจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและสร้างรายได้ รวมทั้งเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ การพัฒนาภาคการเกษตรให้มีศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขัน จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ ได้ตามเป้าหมาย
รอง ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า หอมแดงเป็นพืชเศรษฐกิจ เป็นพืชอัตลักษณ์พื้นถิ่น และเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่สำคัญของ จ.ศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ มีกลิ่นและรสชาติที่โดดเด่นแตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันที่มาจากแหล่งอื่น เพื่อให้หอมแดงศรีสะเกษ สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ซึ่งขอให้เกษตรกรทุกท่านช่วยกันผลิตหอมแดงที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้หลากหลายเพื่อสร้างมูลค่าและรายได้เพิ่ม ซึ่งทุกภาคส่วนจะร่วมบูรณาการขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกรชาวศรีสะเกษต่อไป