"กาญจนบุรี" วัดห้วยกรด ทำบุญทอดกฐินสามัคคี สมทบทุนก่อสร้างศาลาการเปรียญที่ชำรุดทรุดโทรม ปชช.ร่วมบุญนับพันคน
15 ต.ค. 2562, 09:53
วันนี้ 14 ต.ค. 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า บรรยากาศงานตักบาตรเทโว นางฟ้า เทวดาของวัดห้วยกรดตั้งแต่ช่วงได้มีสาธุชนชาวไทยและผู้ใช้แรงงานชาวพม่า กัมพูชา ลาว ร่วมนำข้าวสารอาหารแห้ง ดอกพรรษา ดอกไม้ธูปเทียน ร่วมทำบุญใส่บาตรให้กับคณะสงฆ์ที่ร่วมรับบิณฑบาตรนำโดยพระมหาธนทรัพย์ ธัมมสโร เจ้าคณะตำบลสำนักคร้อ เจ้าอาวาสวัดห้วยกรด ตำบลตะตร้ำเอน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี นำพระภิกษุร่วมรับบาตรท่ามกลางสาธุชนนับพันคนผ่านจากพระอุโบสถและเจดีย์ชเวดากองจำลองที่สวยงาม ก่อนจะนำคณะองค์กฐินเข้าสู่ภายในศาลาการเปรียญหลังใหม่ที่ยังไม่แล้วเสร็จก่อนจะเริ่มพิธี โดยมีพันตำรวจเอกชิดเดชา สองห้อง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหนองปรือ จังหวัดชลบุรี และคุณภัสส์กุญช์ พรหมสาขา ณ สกลนคร เป็นประธานฝ่ายฆราวาสนำคณะองค์กฐินแห่รอบพระอุโบสถของวัดเพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนจะเป็นประธานจุดธูปเทียนบูชาพระ นำถวายองค์กฐินสามัคคี และมีพระมหาธนทรัพย์ เจ้าคณะตำบลสำนักคร้อ เจ้าอาวาสวัดห้วยกรด เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
นอกจากนั้นยังมีนายอภินัทธ์ พรกนกกูล ไวยาวัฏกรวัด,นายพงษ์พณิชย์ บุญประดิษฐ์ เลขานุการคณะกรรมการวัดห้วยกรด หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนทั้งชาวไทยในพื้นที่และแรงงานเข้าร่วมกิจกรรมกันเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นพิธีได้มีการแจกวัตถุมงคลให้กับผู้อุปถัมภ์และให้ศีลรับพรเนื่องในวันออกพรรษา สำหรับการทอดกฐินสามัคคีของวัดห้วยกรดจัดขึ้นเพื่อนำเงินรายได้สมทบทุนก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ที่ยังไม่แล้วเสร็จเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส ตลอดจนใช้เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทยและผู้ใช้แรงงานที่มาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมาก เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เกิดเจตคติที่ดีต่อวันออกพรรษาเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ซาบซึ้งถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นยังเป็นการหลอมรวมจิตใจในการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีการออกพรรษาที่มีอย่างยาวนานให้คนรุ่นหลังไปสืบทอดต่อไป
สำหรับวันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นสำคัญวันหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์ คือ เป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา หรือออกจากพรรษาที่ได้อธิษฐานเข้าจำพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน ในวันออกพรรษาในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นวันที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา และแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา ซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่ชั้นดาวดึงส์ วันออกพรรษา หมายถึงวันที่พ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยที่ต้องอยู่ประจำที่หรือในวัดแห่งเดียวตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุได้อธิษฐานอยู่จำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 แล้วอยู่ประจำที่หรือวัดนั้นเรื่อยไป จนสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากวันออกพรรษาแล้วก็สามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้ วันออกพรรษา เรียกว่าอย่างหนึ่งว่า “วันปวารณา” หรือ “วันมหาปวารณา” คือวันที่พระสงฆ์ทำปวารณากรรม
คือเปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยเมตตาจิตได้ เมื่อได้เห็นได้ทั้งหรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน นอกจากนี้ ยังมีประเพณีเนื่องด้วยวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “ประเพณีตักบาตรเทโว”คำว่า “ตักบาตรเทโว” มาจากคำเต็มว่า “ตักบาตรเทโวโรหณะ” คือการตักบาตรเนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทบันทึกไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์เป็นคู่ๆ) ที่ต้นมะม่วงใกล้เมืองสาวัตถีแล้วก็เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ 7 บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศนาพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาเป็นเวลา 3 เดือน ครั้นออกพรรษาแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จลงสู่มนุษย์โลกที่เมืองสังกัสสะ ประชาชน พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น บางวัดก็ทำในวันออกพรรษา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 บางวัดก็ทำในวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
ทั้งนี้ แล้วแต่ความตกลงร่วมใจทั้งทางวัดและทางบ้าน พิธีทำนั้นทางวัดอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบก ซึ่งตั้งอยู่บนล้อเลื่อนไปช้าๆ นำหน้าพระสงฆ์ พระภิกษุสามเณรถือบาตรเดินตามไปโดยลำดับ พุทธศาสนิกชนต่างก็นำอาหารมาเรียงรายกันอยู่เป็นแถว ตามแนวทางที่รถบุษบกนั้นจะผ่านเพื่อตักบาตร ของที่นิยมใช้ตักบาตรเทโว ซึ่งนอกจากเป็นข้าวปลาอาหารทั่วๆ ไปแล้วยังมีข้าวต้มมัดใต้และข้าวต้มลูกโยนอีกด้วย