งานวิจัยชี้ ! "คนไทยติดมือถือ" อันดับต้น ๆ ของเอเชีย พบ 86% ใช้มือถือเกิน 12 ชม.
14 พ.ย. 2566, 13:44

วันที่ 14 พ.ย.2566 เพตเตอร์ บอเร่ เฟอร์เบิร์ค รองประธานกรรมการ และ ประธาน เทเลนอร์ เอเชีย เปิดเผยผลการศึกษา “Digital Lives Decoded” ซึ่งศึกษาพฤติกรรมการใช้งานบนโลกดิจิทัล
โดยในข้อมูลพบว่า คนไทยเกือบ 9 ใน 10 หรือ 86% ใช้เวลามากกว่าครึ่งวันบนมือถือและ 1 ใน 5 ใช้ชีวิตโดยมีมือถือติดตัวอยู่ตลอดเวลา คาดว่า 83% จะมีการใช้งานเพิ่มขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาคเลยก็ว่าได้ ปัจจัยหลัก มาจากการใช้บริการออนไลน์ 78%, การทำงาน 78%, และการปฏิสัมพันธ์บนโลกโซเชียล 67%
โดยพบว่ากลุ่มผู้หญิงเริ่มมีการใช้งานมากขึ้น มากกว่าผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้หญิงก็มีแนวโน้มที่จะใช้ทักษะและความสามารถใหม่ๆ เพื่อความก้าวหน้าในสายงานหรือริเริ่มธุรกิจของตน
โดยคนไทย 93% ใช้โทรศัพท์เพื่อจัดการธุรกรรมทางการเงิน และกว่า 74% ใช้มือถือเพื่อเปรียบเทียบราคา, 64% ค้นหาข้อเสนอที่ดีที่สุด, 49% ติดตามการใช้จ่าย
ปัจจุบัน เฟซบุ๊กยังคงเป็นแอปพลิเคชันยอดนิยมที่คนไทยใช้ในการเชื่อมต่อกับกลุ่มคน (57%) และรับข้อมูลข่าวสาร (52%)
แต่มีแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระยะเริ่มแรก โดยเกือบ1ใน8 ของเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 29 ปีได้รับข่าวสารจาก TikTok
ผลการศึกษา ยังระบุว่า การเล่นเกมบนมือถือยังคงเป็นกิจกรรมอดิเรกยอดนิยม คนไทย 44% กล่าวว่า พวกเขาใช้อุปกรณ์มือถือเพื่อเล่นเกมในทุกๆวัน โดยค่าเฉลี่ยของระดับภูมิภาคที่อยู่ที่ 30%
ผู้ใช้มือถือชาวไทย 55% มีแนวโน้มที่จะรู้สึกหงุดหงิดเมื่อไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือได้ ส่วนค่าเฉลี่ยในภูมิภาคอยู่ที่ 39%เล่นมือถือเยอะ แต่ไม่ห่วงข้อมูลส่วนบุคคล
แต่ที่น่าห่วง คนไทยมีความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยบนโทรศัพท์น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ และน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันซึ่งเป็นปีที่สองติดต่อกัน
อย่างไรก็ตาม ชาวไทยมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ยังคงเป็นห่วงเยาวชนและผู้สูงอายุ"
ส่วนความกังวลต่อภัยออนไลน์ หลักๆ จะเป็นการโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว (69%), การคุกคามทางออนไลน์ (57%) และบ่อยครั้งที่พวกเขาเผชิญกับข่าวปลอม การหลอกลวง และความรู้สึกติดกับโลกออนไลน์ พวกเขายังเผชิญกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ในระดับสูงสุดในภูมิภาค โดยเกือบครึ่ง หรือกว่า 47% รายงานว่าพวกเขาประสบปัญหานี้อย่างน้อยเดือนละครั้ง
นอกจากนี้ ยังพบว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 72% แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้โทรศัพท์มือถืออีกด้วย