นายกฯ หารือภาคเอกชนสหรัฐฯ เพิ่มความร่วมมือด้านการเงิน ดิจิทัลเทคโนโลยี และ Soft power
16 พ.ย. 2566, 14:41
วันนี้ ( 15 พ.ย.66 ) (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือกับผู้บริหารภาคเอกชนชั้นนำสหรัฐฯ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
บริษัท Citi โดยบริษัท Citigroup เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการเงิน เช่น ธุรกรรมทางการเงิน บริการด้านวาณิชธุรกิจ และการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ เป็นต้น ให้แก่ลูกค้าบริษัท องค์กร องค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนบุคคลธรรมดา บริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในปี 2510 ภายใต้บริษัท The Commercial Credit Corporation (Thailand) Ltd. โดยให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าองค์กร สถาบันและลูกค้าบุคคลมากกว่า 1 ล้านราย โดยบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจในไทยมายาวนาน พร้อมชื่นชมนโยบาย EV และแบตเตอร์รี่ของรัฐบาล และพร้อมร่วมกับไทยจัด Roadshow โครงการ Landbridge เพื่อชักชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในโครงการ
บริษัท Tiktok เป็น Application เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เน้นสร้าง และแชร์คลิปวิดีโอสั้น พัฒนาโดยบริษัท ByteDance ปัจจุบันมีผู้ใช้งานรวมมากกว่า 1,500 ล้านราย โดยในอาเซียนมีผู้ใช้งานมากกว่า 325 ล้านราย และมีการใช้งานจากภาคธุรกิจกว่า 15 ล้านรายต่อเดือน ทั้งนี้ ByteDance ถูกจัดว่าเป็นสตาร์ทอัพที่กลายเป็นยูนิคอร์นที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการ ตามรายงานของ Top 500 Unicorn Startups ประจําปี 2023 ของนิตยสาร The CEOWORLD
ผู้บริหารบริษัทฯ ชื่นชมและยินดีที่ประเทศไทยมีผู้ใช้ Tiktok จำนวนมาก ทั้งนี้บริษัทฯ มีความพยายามที่จะเดินหน้าสู่ภาคการศึกษา พร้อมเห็นว่าการค้าบน Tiktok มีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างมากโดยนายกฯ กล่าวเชิญชวนบริษัทให้ร่วมพัฒนา Soft power ในจังหวัดเมืองรองของทุกภูมิภาคของไทย ที่มีสินค้าท้องถิ่น (OTOP) ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสินค้าและบริการในอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ นายกฯ หวังว่า บริษัทจะพิจารณาเปิด Training center ในไทยเพื่อกระจายรายได้ ซึ่งบริษัทพร้อมพิจารณาความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ โดยบริษัทมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐของอินโดนีเซียในการสอนความรู้ทั่วไป อาทิ การเขียน resume การทำอาหาร ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริม soft power ได้ โดยมีผู้ชมถึงกว่า 1 พันล้าน view โดยนายกฯ หวังที่จะร่วมมือในเรื่องนี้ พร้อมเชิญชวนให้บริษัทฯ ตั้งศูนย์ฝึกอบรม (Training center) เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนนธุรกิจในไทยอีกด้วย ซึ่ง BOI พร้อมหามาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุน
บริษัท Booking.com ประกอบด้วยธุรกิจ 3 อย่าง booking.com, Agoda และ OpenTable โดย Agoda มีสำนักงานใหญ่ในไทย และมีพนักงานหลายพันคนจากไทยและหลากหลายสัญชาติ ที่ผ่านมามีความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในไทย บริษัทฯ ชื่นชมนโยบาย Soft power ของไทย และได้ทราบว่าพึ่งมีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ จึงอยากทราบรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น โอกาสนี้ นายกฯ หวังที่จะให้บริษัทฯ มีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการเที่ยวเมืองรอง โดยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็น World Festival Destination ที่สามารถมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ซึ่งบริษัทฯ พร้อมร่วมมือในเรื่องนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ในขณะที่ OpenTable มีสาขาในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ และออสเตรเลีย แต่ยังไม่มีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบริษัทสนใจและกำลังพิจารณาที่อาจจะเปิดสาขาในไทย ส่วนบริษัท Booking.com บริษัทฯ เห็นว่าหากไทยมีสิทธิประโยชน์ (incentives) ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจในไทย ก็พร้อมที่จะพิจารณาเปิดบริษัทฯ ในไทย