เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ ปาฐกถาพิเศษงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023


23 พ.ย. 2566, 15:21



นายกฯ ปาฐกถาพิเศษงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023




วันนี้ ( 23 พ.ย.66 ) เวลา 09.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 หัวข้อ “FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยในอนาคตแห่งความเปลี่ยนแปลง”  โดยมีคณะผู้บริหาร THE STANDARD ผู้บริหารภาคเอกชน นักธุรกิจ นักวิชาการ สื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ เพลนารีฮอลล์ 1-4 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญสรุป ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีขอบคุณ THE STANDARD ที่เชิญพูดคุยในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 ในการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตประเทศไทย ทั้งนี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยได้สูญเสียโอกาสไปอย่างมากในเวทีโลก โดยเฉพาะเรื่องที่ไทยจะได้ไปทำการค้าขายเพื่อให้ต่างชาติรู้จักประเทศไทย สินค้าไทย และศักยภาพของประเทศไทยมีน้อยมาก ซึ่งอาจจะเป็นด้วยหลายเหตุผลทั้งปัญหาภายในประเทศ ลำดับความสำคัญของการทำงานและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของรัฐบาลชุดที่แล้วที่ต้องทำเรื่องอื่นไปก่อน ดังนั้นเมื่อมาถึงรัฐบาลนี้จึงมีความตั้งใจว่าจะนำคืนศักดิ์ศรีของคนไทยในเวทีโลกอีกครั้งหนึ่ง ทำให้คนไทยหัวใจฟู มีความภาคภูมิใจที่ประเทศไทยสามารถยืนหยัดได้ในเวทีโลก รวมทั้งมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทย และการใช้การทูตเชิงรุก
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการที่ได้เดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ รวมถึงการเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’ Meeting) ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-19 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาว่าสิ่งที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศคือการพูดคุยชวนนักธุรกิจและภาคเอกชนไทยได้เดินทางร่วมคณะไปต่างประเทศด้วยเพื่อไปพบปะพูดคุยกับนักธุรกิจและภาคเอกชนในต่างประเทศเพื่อหาโอกาสในการทำธุรกิจและเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในไทยมากให้ขึ้น โดยนำเสนอศักยภาพต่าง ๆ ที่ประเทศไทยมีอยู่ เช่น การที่ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับบริษัทใหญ่ชั้นนำของโลกอย่าง Google Microsoft Amazon Apple  เป็นต้น โดยอีกหนึ่งจุดแข็งปัจจุบันที่สำคัญคือขณะนี้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว และมีการให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ รวมถึงการที่ไทยมีมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ในการลงทุนไม่ด้อยกว่าประเทศอื่น เช่น มาตรการด้านภาษีที่ดี และมีองค์กรที่แข็งแกร่งอย่างบีโอไอ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการที่จะไปพบปะพูดคุยเพื่อเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศได้มาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการดึง high tech industry ต่าง ๆ เข้ามาลงทุนในไทยให้มากขึ้นเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมไทยเพื่อให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขึ้นมาให้สูงขึ้นอีก รวมไปถึงการใช้ศักยภาพด้านพลังงานสะอาดของไทยดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศได้ด้วย โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาก็มีการเซ็น MOU ไปแล้วหลายฉบับ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดี และป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในประเทศไทยจากภาคการเกษตรที่ Low Profit มาเป็น high tech ที่มี higher profits ซึ่งจะทำให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็น Outbound แล้วกลับมา Inbound คือการไปพบปะพูดคุยกับนักธุรกิจแล้วดึงนักธุรกิจมาลงทุนที่ไทย
 
อย่างไรก็ตามการจะดำเนินการตรงนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่าสิ่งสำคัญองค์กรใหญ่ ๆ ต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง จึงเป็นที่มาที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายกับทูตานุทูตและทูตพาณิชย์ไทย ต้องทำการทูตเชิงรุก และสามารถที่จะมีความรู้ที่จะไปขายจุดแข็งของประเทศไทยให้ตรงกับความต้องการของประเทศนั้น ๆ ที่ทูตไปประจำอยู่ว่ามีความต้องการอะไรที่ไทยมีศักยภาพมีอยู่ เพื่อดึงดูกภาคเอกชนที่แข็งแกร่งของประเทศนั้นให้สนใจมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งการทูตเชิงรุกนี้ถือเป็น KPI ใหม่ที่รัฐบาลนี้มอบให้ทางทูตพาณิชย์ไทยและเอกอัคราชทูตไทยประจำทุกประเทศได้ไปดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมร่วมกับการทำงานบูรณาการกับหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการที่รัฐบาลจะได้มีการขยายขอบเขตการทำงานของหน่วยงาน บีโอไอ ออกไปในต่างประเทศที่ต้องการการลงทุนให้มากขึ้น เช่น ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงและสนใจที่จะมาลงทุนในไทย นอกจากนี้ทูตพาณิชย์ต่าง ๆ ต้องมีการสนับสนุนในการที่จะให้ภาคเอกชนและนักธุรกิจไทยที่มีศักยภาพได้ไปลงทุนในต่างประเทศด้วย ซึ่งเมื่อเกิดผลกำไรก็จะสามารถส่งรายได้กลับมาประเทศไทย เรื่องนี้เป็นอีกมิติหนึ่งที่ทูตพาณิชย์และเอกอัคราชทูตไทยต้องให้ความสำคัญยิ่งขึ้น
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศในขณะนี้ยังไม่ดี  ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหานี้จึงได้มีการดูแลประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เช่น การลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนี้ในการดูแลช่วยเหลือประชาชน รวมไปถึงการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยโดยการยกเว้นวีซ่า (วีซ่าฟรี) ทั้งจีน อินเดีย คาซัคสถาน และไต้หวัน อย่างไรก็ตามตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ออกมายังไม่ดีเท่าที่ควรซึ่งคาดว่าอาจจะมาจากหลายปัจจัยทั้งเรื่องของเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังไม่ดี หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่พารากอน ซึ่งรัฐบาลจะมีการดูแลในเรื่องนี้เพื่อให้ความมั่นใจกับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีความเป็นกังวลเรื่องของ spending per head ของนักท่องเที่ยวที่ต่ำลง รวมถึงระยะเวลาที่นักท่องเที่ยวจะอยู่ในประเทศไทยก็น้อยลง ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพยายามโฆษณาและเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเห็นถึงความคุ้มค่าในการที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ในประเทศไทยทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบว่า ในส่วนของหนี้นอกระบบนั้นเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หลายเท่าตัว ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ขอใช้คำว่าวิกฤต การที่ต้องทำงานแล้วนำเงินมาใช้หนี้โดยเฉพาะการนำเงินมาใช้ดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ใช้หนี้ไม่หมด กำลังใจในการทำงานก็จะลดน้อยลง มีความไม่สบายใจเกิดขึ้น อาจจะนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา ทั้งเรื่องการหันไปพึ่งยาเสพติดก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา ดังนั้นรัฐบาลจะประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ โดยในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ จะมีการแถลงข่าวใหญ่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายการปกครอง ฝ่ายความมั่นคง และกระทรวงการคลัง เพื่อร่วมกันบริหารจัดการแก้ปัญหานี้ให้ได้ รวมถึงการแก้ปัญหาหนี้ในระบบ ซึ่งในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 รัฐบาลจะแถลงถึงวิธีการที่จะทำให้หนี้ในระบบดีขึ้นและให้ครอบคลุมไปทุกภาคส่วน ทั้งนี้ หากสามารถบริหารจัดการหนี้ดังกล่าวได้เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น
 
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรและการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังในการดูแลช่วยเหลือภาคการเกษตร ทั้งเรื่องของการแก้ปัญหาหมูเถื่อน เนื้อเถื่อน ยางเถื่อน รวมไปถึงการที่จะเพิ่มรายได้ให้ภาคเกษตร 3 เท่าใน 4 ปี การขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพให้เพียงพอใน 4 ภาคส่วนทั้งการอุปโภคบริโภค ภาคการเกษตร ระบบนิเวศ และภาคอุตสาหกรรม ภายใต้หลัก “ไม่ท่วม ไม่แล้ง” โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้องบริหารจัดการให้เพียงพอเพื่อให้การขับเคลื่อนด้านอุตสาหกรรมของประเทศเป็นไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและสามารถดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของข้าว รวมทั้งการดูแลในการยกเลิกกฎหมายให้สามารถปลูกถั่วเหลือง GMO ได้เพื่อเพิ่มผลผลิต ขณะเดียวกันรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการปรับสภาพดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชแต่ละประเภทให้ได้ผลผลิตมากขึ้นและมีคุณภาพ การสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้านการเกษตร ตลอดจนการหาตลาดต่างประเทศใหม่ ๆ รองรับพืชผลทางการเกษตรเพื่อที่จะขายพืชผลทางเกษตรให้มากขึ้น เพื่อเกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ด้วย Digital Wallet 10,000 บาท และการออก พ.ร.บ.เงินกู้  ซึ่งสำหรับแหล่งเงินของ Digital Wallet นั้น ได้รับฟังคำแนะนำและความคิดเห็นจากหลายฝ่ายว่า Digital Wallet จะทำอย่างไรให้มีความโปร่งใส มีความชอบธรรม ถูกหลักนิติรัฐ จึงเป็นที่มาที่รัฐบาลนี้ตัดสินใจที่จะออก พ.ร.บ. เงินกู้ ถ้าผู้แทนประชาชนที่อยู่ใน ครม. เห็นด้วย รวมทั้งกฤษฎีกา เห็นชอบก็ถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย และสุดท้าย พ.ร.บ. ต้องผ่านสภาฯ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสภาฯ ที่ต้องลงรายละเอียดเพื่อให้รัฐบาลตอบในรายละเอียดทุกข้อให้ได้ และถ้ารัฐสภาฯ ผ่านเห็นชอบก็ถือว่าเป็นนโยบายที่มีความชอบธรรม ซึ่งผ่านการตรวจสอบของทุก ๆ ภาคส่วน









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.