ถอดบทเรียนออกพรรษา "เด็กเล่นประทัด" บาดเจ็บเกือบครึ่งร้อยหนักสุดมือขาด
15 ต.ค. 2562, 17:38
วันนี้ (15 ต.ค.62) ที่ห้องประชุมรักธรรม ชั้น 7 ตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลอุดรธานี นายกองเอกปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายแพทย์วิเชียร รุ่งธิติธรรม รองผอ.โรงพยาบาลอุดรธานี นายอุเทน หาแก้ว รองนพ.สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี นพ.ศมภู นรานันทน์ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิติกส์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมเพื่อร่วมกันถอดบทเรียนการบาดเจ็บจากประทัด พลุไฟ ดอกไม้เพลิงในช่วงเทศกาลวันออกพรรษาที่ผ่านมา
นายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ประเพณีวันออกพรรษาของทุกปี จะมีการจุดพลุประทัดดอกไม้ไฟ และปล่อยโคมลอย/โคมควัน จากข้อมูลอุบัติเหตุจากประทัด พลุไฟ ดอกไม้เพลิง จังหวัดอุดรธานี พบว่า ปี 2555 =105 ราย, ปี 2556 =114 ราย, ปี 2557 =113ราย, ปี 2558 =158 ราย, ปี 2559 =40 ราย, ปี 2560 =23 ราย ปี 2561 และปี 2562 = 47 ราย ปี 2555-2561 เสียชีวิต 2 ราย มีผู้พิการถาวรจำนวน 81 ราย โดยเฉพาะมือที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันและ ประกอบอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีอายุระหว่าง 8-14 ปี
สำหรับในปี 2562 จังหวัดอุดรธานี มีสถิติการบาดเจ็บจากประทัด พลุไฟ ดอกไม้เพลิงในประเพณีวันออกพรรษา ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2562 -14 ตุลาคม 2562 วันที่เริ่มบาดเจ็บ 1 กันยายน 2562 บาดเจ็บมากสุด 13 ตุลาคม 2562 จำนวน 21 ราย ช่วงเวลาเกิดเหตุมาก 19.00-20.00 น. จำนวน 9 คน เวลา 18.00-19.00น. จำนวน 8 คน พื้นที่เกิดเหตุมาก คือ อำเภอเมืองอุดรธานี 9 ราย อำเภอบ้านดุง 8 ราย อำเภอน้ำโสม,บ้านผือ 5 ราย ตามลำดับ และอายุน้อยสุด 1 ปี จากพ่อจุดพลุกระเด็นถูกมือข้างขวาลูก admit unit-bum อายุมากสุด 61 ปี จุดประทัดชนิดลูกบอลแล้วโยนไล่นก แต่โยนไม่ทันลูกบอลระเบิดก่อน ช่วงอายุ 6-12 ปี จำนวน 26 ราย (55.31%) อายุ 13-19 ปี, อายุ 20-59 ปี จำนวน 13 ราย (27.65%) ชาวต่างชาติ 1 ราย เสียบพลุใส่ไม้จุด พลุล้มลง โดนคาง นักเรียน จำนวน 28 ราย (59.57 %) พระภิกษุ-สามเณร จำนวน 3 ราย
ชนิดประทัดที่ทำอันตรายคือ ลูกบอล จำนวน 28 ราย (59.57 %) สามเหลี่ยม จำนวน 1 ราย แหล่งจำหน่าย ร้านค้าในหมู่บ้าน จำนวน 37 ราย (78.72 %) โรงพยาบาลชุมชนส่งต่อโรงพยาบาลอุดรธานี 14 ราย Admit 18 ราย ยังมีผู้บาดเจ็บนอนโรงพยาบาล 7 ราย พิการ 5 ราย (มือขวา 1 ราย ,ตัดปลายนิ้ว 4 ราย) ไม่มีเสียชีวิต
นายกองเอกปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ประทัดลูกบอล และสามเหลี่ยมเป็นสิ่งที่ห้ามอย่างเด็ดขาด สิ่งที่เกิดขึ้นคือความไม่รับผิดชอบของบรรดาพ่อค้าแม่ค้า และทางแต่อำเภอก็ได้มีการเตือนมาโดยตลอด เมื่อทางเราไปตรวจก็ไม่พบก็น่าจะนำไปซุกซ่อนไว้ ลักลอบจำหน่าย ไร้ซึ่งความรับผิดชอบ ณ วันนี้จึงต้องการทราบว่าเด็กที่ได้รับบาดเจ็บไปซื้อมาจากที่ไหน ซึ่งการประชาสัมพันธ์เราไม่ได้ผล ต้องดำเนินคดีอย่างเดียว และทางหน่วยงานทางการศึกษาก็ได้ช่วยประชาสัมพันธ์ แต่ก็ยังมีการได้รับบาดเจ็บอยู่ ก็คงจะต้องช่วยกันถอดบทเรียน
“จังหวัดอาจจะมีการประกาศพื้นที่ห้ามหรือให้เล่น เพื่อควบคุมความปลอดภัยเหมือนการเล่นสงกรานต์ จึงต้องช่วยกันคิดซึ่งต่อไปก็จะเป็นเทศกาลลอยกระทง ไม่ให้เล่นเลยก็ไม่ได้ ต้องกำหนดพื้นที่ หลายครั้งที่ทำให้เกิดอัคคีภัยด้วย บางพื้นที่เล่นกันอย่างต่อเนื่องเช้ายันเย็นเหมือนกับอยู่ในสงครามเลย อาชญากรรมถ้าเกิดในช่วงดังกล่าวได้เลย ทำให้น่ากลัว พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องช่วยกันดูแลบุตรหลาน ห้ามเลย บางคนไปแกะดัดแปลงให้มีอานุภาพรุนแรง อย่าประมาท ห้ามเด็ดขาดเป็นลูกระเบิดพร้อมที่จะระเบิดใส่ได้ทุกเมื่อ และถึงเวลาที่สุดแล้ว อุดรธานีควรประกาศว่า ไม่มีการเล่นประทัดดอกไม้เพลิงไปเลย ต้องช่วยกันขนาดนั้น เพราะเล่นเมื่อไหร่ก็มีการสูญเสียอยู่ตลอดเวลา และการจุดเฉลิมฉลองอะไรต่างๆก็จะต้องจุดในที่ปลอดภัย มีการกำกับดูแล” นายกองเอกปราโมทย์ฯ รองผวจ.อุดรธานี กล่าว
จากนั้น นายกองเอกปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายแพทย์วิเชียร รุ่งธิติธรรม รองผอ.โรงพยาบาลอุดรธานี และคณะ พร้อมด้วยตัวแทนจากสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดอุดรธานี ได้นำสิ่งของไปเยี่ยมคนที่ได้รับบาดเจ็บที่ยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอุดรธานี ด้วยความเป็นและให้กำลังใจ ซึ่งทุกคนก็ทราบถึงอันตราย แต่เป็นพร้อมความคึกคะนองและความประมาท