เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สนค. แจงปรับค่าจ้างขั้นต่ำกระทบเงินเฟ้อไม่มาก เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม


27 พ.ย. 2566, 15:44



สนค. แจงปรับค่าจ้างขั้นต่ำกระทบเงินเฟ้อไม่มาก เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม




วันนี้ ( 27 พ.ย.66 ) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการวิเคราะห์ “ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป” โดยใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)และจำนวนผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งประมวลข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและกระทรวงแรงงาน โดยปัจจุบันอัตราค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาทต่อวัน ซึ่งหากปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม ในอัตราระหว่างร้อยละ 5 หรือ 353.85 บาทต่อวัน และร้อยละ 10 หรือ 370.70 บาทต่อวัน เบื้องต้นพบว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อไม่มากนัก เนื่องจากภาคการผลิตในภาพรวมมีค่าใช้จ่ายจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม อีกทั้งมีข้อจำกัดและปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลมีมาตรการลดต้นทุนด้านพลังงาน ดังนั้น ต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการได้อย่างจำกัด ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และการเพิ่มผลิตภาพการผลิต ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไป

ปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทย ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี โดยค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นอัตราตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยมีอัตราอยู่ระหว่าง 328 – 354 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 337 บาทต่อวัน และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอัตราใหม่ของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 2567

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเครื่องมือสำคัญ ในการยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวผู้ใช้แรงงาน อีกทั้งสนับสนุนการอุปโภค-บริโภคภาคครัวเรือน ให้อุปสงค์ภายในประเทศมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นระดับที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้และไม่ส่งผลต่อภาวะการมีงานทำของผู้ใช้แรงงาน โดยภาครัฐอาจพิจารณาสนับสนุนแนวทางการปรับตัวและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องจักร เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการผลิตและจ้างงาน ตลอดจนดำเนินมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพ เพื่อบรรเทาผลกระทบของค่าจ้างต่อต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อ









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.