เปิดปฏิบัติการกวาดล้าง "ผู้ค้าอาวุธปืน" ผ่านระบบออนไลน์ พบ 1 ในนั้นลอบขายกระสุนให้ "เด็กชายวัย 14 ปี" ก่อเหตุยิงที่พารากอน
28 พ.ย. 2566, 12:42
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ร่วมกันบูรณาการ พร้อมเปิดปฏิบัติการทลายเครือข่ายกลุ่มซื้อ - ขาย อาวุธปืน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในทุกมิติ โดยแบ่งตามรายละเอียดดังนี้
(1) ปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมกลุ่มเครือข่ายที่ลักลอบซื้อ - ขายอาวุธปืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เข้าตรวจค้น 21 จุด ใน 12 จังหวัด ร่วมกันจับกุม ผู้ต้องหาได้ 8 ราย (ตามหมายจับ 1 ราย , เหตุซึ่งหน้า 7 ราย ) หนึ่งในนั้นคือ นายเอ (นามสมมติ) อายุ 42 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ฐาน “ร่วมกันจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต” ที่ขายกระสุนปืนให้เด็กอายุ14ปี นำไปกราดยิงที่พารากอน พร้อมของกลาง อาวุธปืน จำนวน 12 กระบอก ได้แก่
1.อาวุธปืนยาว 4 กระบอก
2. อาวุธปืนสั้น 3 กระบอก
3. แบลงค์กัน 3 กระบอก
4. ปืนไทยประดิษฐ์ 2 กระบอก
5.เครื่องกระสุนอีกหลายขนาด รวม 110 นัด
6.อุปกรณ์ส่วนควบ อาทิเช่น ที่เก็บเสียง, ลำกล้อง, ชุดลั่นไก และลำกล้อง ฯลฯ กว่า 22 ชิ้น
พฤติการณ์ ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอท. ทำการสืบสวนกลุ่มขบวนการฯลอบค้าอาวุธปืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในห้วงวงรอบประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2566 มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พ.ย.66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอท. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ป., บก.ปคบ., บก.ปคม. ,บก.ปอศ. เปิดปฏิบัติการทลายกลุ่มเครือข่ายที่ลักลอบซื้อ – ขายอาวุธปืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เข้าตรวจค้นสถานที่ที่เชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มซื้อ-ขายอาวุธปืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จำนวน 21 สถานที่ ใน 12 จังหวัด (กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรสาคร,สมุทรปราการ,พระนครศรีอยุธยา, ชลบุรี, อุดรธานี, พิจิตร, เชียงใหม่, กาญจนบุรี, นครศรีธรรมราช) สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้รวมทั้งสิ้น 8 ราย พร้อมตรวจยึดของกลาง ตามข้างต้น
อีกทั้งในการปฏิบัติการตรวจค้นข้างต้น ยังสามารถจับกุม นายเอ (นามสมมติ) ผู้ต้องหาตามหมายจับ ในความผิดฐาน “ร่วมกันจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต” ซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนในทางคดีผู้ต้องหาคนดังกล่าว เป็นผู้ขายเครื่องกระสุนปืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และจัดส่งให้กับผู้ก่อเหตุกราดยิงที่ห้างพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
(2) ปฏิบัติการสืบสวนติดตามจับกุม คนร้ายที่ฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงขายอาวุธปืน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ร่วมกันจับกุม ผู้ต้องหาตามหมายจับ จำนวน 8 ราย ในความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชน และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”
พฤติการณ์ ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกก.2 บก.ปอท. สืบสวนกรณีคนร้ายที่ฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงขายอาวุธปืน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในห้วงดือนพฤศจิกายน 2566 นำไปสู่การรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 10 ราย ก่อนจะสามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับข้างต้น ได้ทั้งสิ้น 8 ราย
จากการซักถามปากคำผู้ต้องหา ผู้ต้องหาจำนวน 5 ราย ที่รับสารภาพว่า เป็นคนสร้างเพจเฟซบุ๊ก/ทวิตเตอร์ ประกาศขายอาวุธปืน, แบลงค์กัน, ปืนปากกา, เครื่องกระสุนปืน ขึ้นมา เพื่อหลอกลวงประชาชนที่มีความสนใจเกี่ยวกับอาวุธปืน ขณะที่ผู้ต้องหาอีก 3 ราย รับสารภาพว่า รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) เพื่อรับโอนเงินจากการกระทำความผิดให้กับขบวนการดังกล่าว
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอท. ยังได้สืบสวนเส้นทางการเงิน พบว่า ในช่วงระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ผู้ต้องหาตามหมายจับข้างต้นทั้ง 10 ราย ได้ก่อเหตุฉ้อโกง หลอกลวงผู้เสียหายมาแล้วมากกว่า 180 คน รวมมูลค่าความเสียหาย เป็นเงินมากกว่า 655,000 บาท
(3) ปฏิบัติการปิดกั้น URL ที่มีการประกาศขายอาวุธปืน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
ในห้วงตลอดเดือนพฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอท. ได้ทำการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อปิดกั้นเว็บเพจเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ที่มีการประกาศขายอาวุธปืน, แบลงค์กัน, ปืนปากกา, ปืนไทยประดิษฐ์ และเครื่องกระสุนปืน โดยได้ทำการปิดกั้นไปแล้วทั้งสิ้น 146 URL แบ่งเป็น URL Facebook จำนวน 48 URL และ URL Twitter จำนวน 98 URL
เบื้องต้นนำตัวผู้ต้องหา พร้อมของกลางทั้งหมด ส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ขณะที่ผู้ต้องหาตามหมายจับอีก 2 ราย ที่ยังหลบหนี เจ้าหน้าที่จะเร่งติดตามตัวมาดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกก.2 บก.ปอท. ยังคงจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันและปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่มีการโพสต์ประกาศขายอาวุธปืน ป้องกันการนำไปก่อเหตุอาชญากรรม