รพ.ศรีสะเกษ เปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตรพร้อมให้คำปรึกษาเรื่องการมีบุตรอย่างเต็มที่
30 พ.ย. 2566, 15:02
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องตรวจสูติ-นรีเวช อาคารผู้ป่วยนอก ชั้น 2 รพ.ศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตร ซึ่ง รพ.ศรีสะเกษ ได้จัดทำคลินิกนี้ขึ้น ตามนโยบายของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข โดยมี นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผอ.รพ.ศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี นพ.ทนง วีระแสงพงศ์ นพ.สาธารณสุข จ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย ผอ.รพ.ทุกแห่งในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ คณะแพทย์ พยาบาล รพ.ศรีสะเกษ มาร่วมพิธี
นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผอ.รพ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เนื่องจากประชากรวัยทำงานและเด็กกำลังมีสัดส่วนลดลงเพราะเด็กเกิดน้อยลงมาโดยตลอด ในขณะที่สัดส่วนของผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นตลอดเวลา สาเหตุหลักมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ และค่านิยมการมีบุตรที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้โรงพยาบาลมีคลินิกส่งเสริมการมีบุตร รพ.ศรีสะเกษ ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงจัดตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร (Fertility clinic) ขึ้นโดยมีการให้บริการ ดังนี้ การให้คำปรึกษาเรื่องการมีบุตร การวางแผนครอบครัว ประเมินและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ การประเมินสาเหตุ สืบค้นเพื่อหาสาเหตุภาวะมีบุตรยากเบื้องต้น การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ การกระตุ้นไข่และเหนี่ยวนำการตกไข่ การฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูก (IUI : Intrauterine insemination) ตนจึงขอเชิญผู้ที่มีบุตรยากและอยากมีบุตรมาเข้ารับการปรึกษาได้
นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 กล่าวว่า จากข้อมูลจากสถิติสาธารณสุขปี 2565 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 485,085 คน ซึ่งเป็นจำนวนการเกิดที่ต่ำที่สุดและเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 500,000 คน สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 มีประชากรผู้สูงอายุมากถึงกว่า 12 ล้านคน เด็กที่เกิดน้อยและสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น หมายถึงจำนวนแรงงานของประเทศที่ลดน้อยลง ย่อมส่งผลต่อกำลังการผลิตที่ลดลง ผลผลิตโดยรวมของประเทศที่ลดลง รายได้และการจัดเก็บภาษีที่ลดลง ดังนั้นจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างมากจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง ทั้งนี้ การส่งเสริมให้เกิดหรือเพิ่มประชากรจะต้องคำนึงถึงการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ สร้างระบบที่ดีและเอื้อต่อการเลี้ยงดูเด็ก เพื่อยกระดับประชากรให้เติบโตเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีระบบที่ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงทางการเงิน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมในสังคมที่ดี และเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุ ก็มีระบบการดูแลที่ดีไปจนกระทั่งเสียชีวิต ทั้งหมดนี้นำมาสู่ความจำเป็นในการจัดทำนโยบายส่งเสริมการมีบุตร ที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน คนที่เขามีคู่แล้วมีเพศสัมพันธ์ที่เหมาะสมมีบุตรยากจริงๆ ซึ่งปัจจุบันนี้คนแบบนี้ถ้าจะต้องทำการกระตุ้นให้มีบุตรโดยวิธีการ 2 ระดับคือ การฉีดสเปิร์มเข้าไปในมดลูก หรือระดับที่สูงก็คือ ที่เรารู้จักกันก็คือเด็กหลอดแก้ว ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายตลอด เพราะฉะนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นความสำคัญเรื่องนี้จึงให้เปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตรและส่งเสริมให้เป็นสิทธิประโยชน์เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของคนอยากมีบุตรซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศคนไม่อยากพี่บุตรค่อนข้างเยอะมาก เนื่องจากว่าจากการสำรวจคนที่มีคู่แล้วพบว่าร้อยละ 70 ถึง 80 % ยังไม่อยากมีบุตรยังไม่อยากมีลูกเนื่องจากว่าความไม่พร้อมของคนวัยหนุ่มสาวและกังวลว่าจะไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ดี ซึ่งตรงนี้จะเป็นเรื่องหนึ่งที่ท่าน รมว.สาธารณสุขเองจะได้ผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่จะสร้างปัจจัยลดค่าใช้จ่ายด้านการเลี้ยงดูเด็กที่เหมาะสมให้ ช่วยทำให้คนวัยหนุ่มสาวมีความมั่นใจว่าลูกที่เกิดออกมาแล้วนี้จะได้รับการเลี้ยงดูแลอย่างมีคุณภาพ ตนถือว่าเรื่องนี้เป็นข่าวดีของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะคนที่มีบุตรยากก่อนและอยากมีบุตร ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอยู่ ท่าน รมว.กระทรวงสาธารณสุขกำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้และให้ทางโรงพยาบาลเปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตรเพื่อให้คำปรึกษาได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับคนอยากมีบุตรได้เป็นอย่างดี