ปปส.ภาค 3 ติวเข้ม! ชุดปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด โดยยึดหลักการ "เปลี่ยนผู้เสพ เป็นผู้ป่วย"
2 ธ.ค. 2566, 04:19
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรานว่า ที่ห้องลำดวนทอง โรงแรมพรหมพิมาน อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิด "โครงการอบรมชุดปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด ตามนโยบาย เร่งด่วนของรัฐบาล (Quick win)ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ" จัดโดยสำนักงาน ปปส.ภาค 3 ร่วมกับ ศอ.ปส.จ.ศรีสะเกษ ตำรวจภูธร จ.ศรีสะเกษ สาธารณสุข .ศรีสะเกษ กอ.รมน.และ อบจ.ศรีสะเกษ โดยมี นางสุมนา บัวแทศ ผอ.ส่วนประสานพื้นที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 3 เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี พล.ต.ต.พิษณุ วัตถุ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ศรีสะเกษ นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นพ.สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ พ.ต.อ.ศุภชัย ศักรินพานิชกุล รอง ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากทุกส่วนราชการ มาเข้าร่วมพิธีและเข้ารับการอบรมในครั้งนี้
นางสุมนา บัวแทศ ผอ.ส่วนประสานพื้นที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 3 กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายด้านยาเสพติด ที่มุ่งเน้นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นำความปลอดภัยมาสู่ประชาชน โดยยึดหลักการ "เปลี่ยนผู้เสพ เป็นผู้ป่วย" ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick win) เพื่อให้หน่วยงาน ใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงานระดับพื้นที่ และจัดทำแผนปฏิบัติการในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 30 จังหวัด 85 อำเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้มีอาการทางจิตที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังสูงและเฝ้าระวังสูงสุด ที่ต้องดำเนินการ จำนวน 4,414 คน โดยเริ่มปฏิบัติการ 100 วัน และจะเริ่มเปิดปฏิบัติการทั่วประเทศในวันที่ 1 ธ.ค. 2566 เพื่อค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากการใช้ยาเสพติด นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาเป็นระยะต่อไป ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเร่งด่วน จ.ศรีสะเกษ เป็นจังหวัดในความรับผิดชอบของสำนักงาน ปปส.ภาค 3 จากข้อมูลผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากยาเสพติด ในระบบซักถาม แบบ ง. ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากยาเสพติด จำนวน 810 ราย และเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีผู้มีอาการทางจิตฯ กลุ่มเร่งด่วน (เฝ้าระวังสูงและเฝ้าระวังสูงสุด) ที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล จำนวน 1 อำเภอ คือ อ.เมืองศรีสะเกษ จำนวน 136 คน สำนักงาน ปปส.ภาค 3 จึงได้จัดทำโครงการอบรมชุดปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick win) ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำรูปแบบไปเป็นแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดให้เกิดความสอดประสานเป็น เอกภาพตลอดกระบวนการ
นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ปัจจุบันยาเสพติดได้แพร่ขยายเข้าสู่ชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบมากมาย โดยพบว่า ผู้ป่วยจากการใช้เสพยาเสพติด ที่เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในแต่ละปี ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่ก่อความรุนแรงเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติและลดความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายเร่งด่วน ของรัฐบาล มุ่งเน้นการบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขและใช้แนวทางที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ ลดระดับความรุนแรงของปัญหายาเสพติด และปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด ปรับรูปแบบการปฏิบัติในทุกมาตรการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี คืนความปลอดภัย ความสงบสุขให้กับประชาชน รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการดำเนินงานของรัฐบาล ในการนี้ ถือเป็นโอกาสอันดี ที่ได้รวมบุคลากร และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงาน ในทุกกระบวนการขั้นตอนของการบำบัดรักษา ทำให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในทุกขั้นตอนได้อย่างเหมาะสมกับผู้เสพยาเสพติดอีกทั้งได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ การทำงานในพื้นที่ และระดมความคิดเห็นในการวางแผนขับเคลื่อนงานในพื้นที่ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าตลอดระยะเวลาของโครงการนี้ จะทำให้ทุกท่านได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับการทำงานต่อไป