อ.เจษฎา เผย "กินปิ้งย่าง" ควรแยกที่คีบเนื้อสัตว์ สุก-ดิบ ชี้เสี่ยงเป็น ไข้หูดับ
4 ธ.ค. 2566, 16:34
บนโลกออนไลน์ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์คลิปรายการ ชัวร์แน่ หรือแชร์มั่ว ep.107 ตอน “กินหมูดิบ เป็นไข้หูดับ จริงหรือ ?” โดยระบุใจความดังนี้
มีข่าวคำเตือนจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เผยแพร่กันว่า อย่ากินหมูดิบ เพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคไข้หูดับ เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง โรคไข้หูดับ จากหมูดิบ มีจริงและน่ากลัวกว่าที่คิด
การกินเนื้อหมู (รวมถึงเครื่องใน/เลือด) หมูดิบนั้น มีความเสี่ยงอันตรายแฝงอยู่ ไม่ว่าจะจากเชื้อโรคต่างๆ และตัวอ่อนพยาธิใน รวมไปถึงโรคไข้หูดับ จากการติดเชื้อแบคทีเรีย สเต็ปโตคอคคัส ซุอิส ซึ่งเป็นอีกโรคหนึ่งจากการกินหมูดิบ ที่ยังมีรายงานในไทยเราเรื่อย ๆ
สถานการณ์โรคไข้หูดับในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 1 พ.ย. มีผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 500 ราย มีผู้เสียชีวิต 24 ราย ที่ จ.เชียงใหม่ 1 ราย จ.น่าน 1 ราย จ.สุโขทัย 1 ราย จ.ตาก 2 ราย จ.อุตรดิตถ์ 2 ราย จ.กำแพงเพชร 1 ราย จ.พิจิตร 1 ราย จ.อุทัยธานี 2 ราย จ.นครปฐม 2 ราย จ.สมุทรสาคร 1 ราย จ.มหาสารคาม 3 ราย จ.หนองคาย 1 ราย จ.นครราชสีมา 4 ราย จ.ชัยภูมิ 1 ราย และ จ.บุรีรัมย์ 1 ราย
จึงขอเตือนประชาชนอย่ากินหมูดิบ หรือลาบเลือดดิบ ๆ รวมไปถึงอาหารปิ้งย่าง ควรมีอุปกรณ์คีบเนื้อหมูสุกและเนื้อหมูดิบแยกจากกัน ไม่ควรใช้ตะเกียบคีบหมูดิบ แล้วนำมารับประทาน เพราะหากติดเชื้อโรคไข้หูดับแล้ว อาจทำให้สูญเสียการได้ยินหรือที่เรียกว่า หูดับ จนถึงขั้นหูหนวกถาวรได้
โรคไข้หูดับ เกิดจากการกินเนื้อหมู หรือเลือดหมูสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบหมูดิบ ลาบเลือดดิบที่มีเชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ปนเปื้อนอยู่ โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ โรคไข้หูดับสามารถติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตา
เมื่อได้รับเชื้อโรคไข้หูดับเข้าไปแล้ว ทำให้ผู้ติดเชื้อมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หนาวสั่น สับสนกระสับกระส่าย ปวดข้อ คอแข็ง หูหนวกหรือการได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน การทรงตัวผิดปกติ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ มีจ้ำเลือดทั่วตัว ปวดตา ตาแดง หรือมองภาพไม่ชัด
เพื่อเป็นการป้องกันโรคไข้หูดับ ขอให้ประชาชนรับประทานหมูอย่างถูกวิธี ดังนี้
1. รับประทานเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น โดยปรุงให้สุกผ่านความร้อนมากกว่า 70 องศาเซลเซียส
2. อาหารปิ้งย่าง ควรใช้อุปกรณ์ในการคีบเนื้อหมูดิบและเนื้อหมูสุกแยกจากกัน และขอให้ยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด
3. ไม่ควรรับประทานหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา
4. เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู