นายกฯ ปาฐกถาพิเศษ "อนาคตเศรษฐกิจไทย" หวังไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น จากมาตรการกระตุ้นศก.-ส่งเสริมการลงทุน
7 ธ.ค. 2566, 16:02
วันนี้ ( 7 ธ.ค.66 ) เวลา 13.30 น. ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ถนนเสรีไทย แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทย” โดยมีคณะผู้บริหารสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผู้บริหารคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ผู้บริหารและคณาจารย์หลักสูตรวิทยาการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูงเข้าร่วมรับฟัง นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของปาฐกถาพิเศษ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การปาฐกถาวันนี้ต้องการจะสื่อสารในสิ่งที่จับต้องได้ และทุกคนเข้าใจง่าย ไม่เป็นการวาดฝันที่สวยหรูเกินเหตุ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 10 ปี ถือว่าเป็นช่วงที่ยากลำบาก และทุกวันนี้ก็ยากลำบากมากกว่าเดิม ด้วยสาเหตุหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงปัญหาความไม่สงบจากการสู้รบของยูเครนและรัสเซีย และการสู้รบของอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่มีท่าทีว่าจะยืดเยื้อยาวนาน
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ในช่วงเวลาเกือบ 3 เดือน ที่ตนเองเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่วันที่รัฐบาลแถลงนโยบาย รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากในการดำเนินการในระยะเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชนในหลายกลุ่ม โดยนโยบายที่จะดำเนินการในระยะเร่งด่วน คือ กระตุ้นเศรษฐกิจ การลดค่าครองชีพและเพิ่มรายได้ ทั้งเกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้สามารถฟื้นตัว และกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง ส่วนในระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลได้วางเป้าหมายไปสู่อนาคต โดยได้วางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้กับประเทศ การทลายข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ปิดกั้น การพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งการสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชน และดำเนินการให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเสริมความแข็งแกร่งให้กับประเทศที่ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็นประเทศที่มีศักยภาพ พร้อมเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า นโยบายเร่งด่วนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น คือการเพิ่มเม็ดเงินให้หมุนเวียนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น ลดภาระค่าครองชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ยังมีนักการเมืองฝั่งตรงข้ามโจมตีว่า เป็นนโยบายหาเสียงหวังผลทางการเมือง เป็นการซื้อเสียงเพื่อเตรียมตัวเลือกตั้งครั้งต่อไป ขอยืนยันว่าการดำเนินนโยบายไม่ใช่การหาเสียงหรือหวังผลทางการเมือง แต่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ที่ผ่านมา 9 ปี มีการพักหนี้ให้เกษตรกรไปแล้ว 13 ครั้ง รัฐบาลชุดนี้ตั้งใจว่าจะพักหนี้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย แต่ก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าจะสามารถทำได้ตามที่ตั้งใจไว้
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้ากับต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า โดยในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit) ที่ผ่านมา ตนเองได้มีโอกาสพบปะกับผู้นำประเทศระดับโลก รวมทั้งได้หารือกับภาคเอกชนและนักธุรกิจชั้นนำ ซึ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ และเปิดตลาดใหม่ ๆ ให้สามารถส่งออกสินค้าไทยในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ในการประชุมทูตไทยเมื่อไม่นานมานี้ ตนเองได้ย้ำไปว่าทูตของเราจะต้องเป็น “ทูตการค้า” ซึ่งต้องคอยช่วยเหลือและสนับสนุนภาคเอกชนในการไปลงทุน ไปค้าขาย เพราะทุกท่านที่มาจากภาคเอกชนในที่นี้ ล้วนเป็นผู้ที่ช่วยประเทศชาติให้เจริญเติบโต และจะทำให้เราสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันทูตเองก็ต้องช่วยในการดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ต้องมีมาตรการต่าง ๆ มาสนับสนุน เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการเข้ามาลงทุน โดยรัฐบาลได้มีมาตรการทางด้านภาษีต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับประเทศ พร้อมเป็นศูนย์กลางผลิตและขนส่งในภูมิภาค
ในส่วนของการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ด้วยการให้วีซ่าฟรีกับหลายประเทศ การพัฒนาศักยภาพเมืองรอง รวมถึงต้องพิจารณา spend per head ควบคู่กับปริมาณจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาไทย รวมทั้งการจัดกิจกรรมเทศกาลประเพณีไทย (Festival) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตามนโยบายการขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศ ด้วยทุนทางวัฒนธรรม และแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างมหาศาล และทำให้ผู้ประกอบการ พี่น้องประชาชนมีงานทำ และมีรายได้เพิ่มขึ้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในปีหน้ารัฐบาลได้เตรียมจัดงานเทศกาลสงกรานต์ 2567 World Water Festival อย่างยิ่งใหญ่ตลอดเดือนเมษายน 2567 ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากงานสงกรานต์แล้วยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น มหกรรมดนตรี มหกรรมทางด้านอาหาร มหกรรมทางด้านงานศิลปะ รวมถึงมหกรรมทางด้านสายมู และด้านวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้สงกรานต์ไม่ได้มีแค่การสาดน้ำอีกต่อไป
นายกรัฐมนตรียืนยัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายทุกด้าน ไม่ใช่แค่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ในด้านสังคม และการศึกษา โดยเฉพาะความเสมอภาคทางสังคม การสมรสเท่าเทียม รัฐบาลพร้อมสนับสนุนผลักดันทางด้านกฎหมายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ขอให้ทุกท่านในที่นี้ซึ่งเป็นบุคคลที่มี Connection มีความรู้ความสามารถใช้ Connection ไปในทางถูกต้อง ทำประโยชน์เพื่อสังคม อย่านำ Connection ไปสานต่อในทางที่ไม่ดี วางตนเหนือท่าน ใช้ทรัพยากรของรัฐไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การประพฤติตนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเหลือสังคม พร้อมกล่าวยอมรับว่าตนเองมีเงิน แต่มากกว่าที่มีเงินคือตนเองมีความตั้งใจต้องการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม วันนี้ขอวิงวอนอ้อนวอนให้บุคคลที่เป็นฐานบนของสังคม ช่วยกันให้โอกาสช่วยเหลือกลุ่มคนที่เป็นฐานรากของสังคมให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขอให้ช่วยกันเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป