เปิดศูนย์ประสานงานชีวาภิบาล ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค Quick win 100 วัน
9 ธ.ค. 2566, 13:59
วันที่ 7 ธ.ค. เวลา 09.00 น. นายจุมพฎ วรรณฉัตรสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานเปิดศูนย์ประสานงานชีวาภิบาล จังหวัดบึงกาฬ ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการยกระดับการรักษา 30 บาทรักษาทุกโรค Quick win 100 วัน เพื่อเป็นศูนย์การประสานการดำเนินงานของโรงพยาบาลลูกข่าย รวมถึง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่อยู่ในพื้นที่ ทั้ง 61 แห่ง ของจังหวัดบึงกาฬ โดยมีนายแพทย์กมล แช่ปีง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบึงกาฬ และผู้บริหารโรงพยาบาลบึงกาฬ ร่วมงานและเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมบึงกาฬบุรี ชั้น 5 โรงพยาบาลบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
นายแพทย์กมล แช่ปีง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบึงกาฬ กล่าวว่า เนื่องด้วยกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบาย พุทธศักราช 2567 นโยบายมุ่งเน้น 10 ประเด็น ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค Quick win 100 วัน / สถานชีวาภิบาล เป็นนโยบายที่ 8 ของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีพุทธศักราช 2567 ให้มีการจัดตั้งสถานชีวาภิบาลขึ้น เขตสุขภาพละ 1 แห่ง ใน 100 วันแรก ในปีงบประมาณ 2567 สถานชีวาภิบาล คือ สถานที่ที่ให้บริการด้านการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ที่ได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคองและระยะท้าย ซึ่งเป็นการดูแลตั้งแต่ระยะแรกจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ (กาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและจิตวิญญาณ) คืนคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแล ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 จังหวัดบึงกาฬ มีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ที่เป็นผู้ป่วยประคับประคอง/ระยะท้าย จำนวน 1,815ราย และผู้ป่วย Long-term care (ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลระยะยาว) จำนวน 2,105 ราย โดยประมาณ ซึ่งก่อให้เกิดภาระ ปัญหาคุณภาพชีวิตแก่ญาติและผู้ดูแล เป็นอย่างมาก ของชาวจังหวัดบึงกาฬ
จังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังวัดบึงกาฬ และภาคีเครือข่ายหน่วยงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดบึงกาฬ จึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานชีวาภิบาล ในโรงพยาบาลทั้ง 8 แห่ง ให้เกิดขึ้นทุกแห่งของจังหวัด ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยประคับประคอง/ระยะท้าย และผู้ดูแล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดระยะการเดินทาง การรอคอย และภาระค่าใช้จ่ายของลูกหลานและผู้ดูแล ทำหน้าที่ให้บริการและให้คำปรึกษาแก่โรงพยาบาลลูกข่าย รวมถึง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่อยู่ในพื้นที่ ทั้ง 61 แห่ง ของจังหวัดบึงกาฬ
นอกจากนี้นายจุมพฎ วรรณฉัตรสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ และนายแพทย์กมล แช่ปีง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบึงกาฬ และผู้บริหารโรงพยาบาลบึงกาฬ ร่วมกันตัดริบบิ้นเปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตร ของโรงพยาบาลบึงกาฬ ที่อยู่บนชั้น 4 ตึกอุบัติเหตุ เพื่อช่วยขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ ให้บริการแบบครบวงจร เพื่อเตรียมตัวคู่สมรสให้มีความพร้อมในการมีบุตรในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม หลังจากนั้นได้ร่วมกับถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกด้วย ..