รองโฆษกฯ ร่วมเวทีสนทนา “ห้องเรียนสู้ฝุ่น x ภัยพิบัติศึกษา” สู่การขับเคลื่อนทางนโยบาย สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก
18 ธ.ค. 2566, 09:04
วันที่ 18 ธันวาคม 2566 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้ขึ้นเวทีสนทนา “ห้องเรียนสู้ฝุ่น x ภัยพิบัติศึกษา” สู่การขับเคลื่อนทางนโยบาย ร่วมกับนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส. พรรคเพื่อไทย และนายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี พรรคก้าวไกล
เวทีเสวนานี้จัดขึ้นภายใต้โครงการยกระดับองค์ความรู้สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อการตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพ ในพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กสู่นโยบายสาธารณะ ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) เพื่อพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการนำกรอบแนวคิดเรื่องภัยพิบัติศึกษา ซึ่งรวมเรื่องฝุ่นศึกษา เข้าสู่นโยบายการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนไทย ซึ่งในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ตัวแทนคณะครูจาก 135 โรงเรียนได้นำเสนอเอกสารบทสรุปของการถอดบทเรียน “ห้องเรียนสู้ฝุ่น X ฝุ่นศึกษา” แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) ด้วย
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในเวทีเสวนาว่า เรื่องฝุ่น เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไปที่เด็กจะเข้าใจ และง่ายเพียงพอที่เด็กจะเป็นผู้เปลี่ยนแปลง (Change Manager) เป็นบุคคลที่นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่พ่อแม่ ชุมชน การที่จะป้องกันฝุ่น PM 2.5 ให้ออกไปถือเป็นสิ่งที่อยู่ในมือของทุกคน พร้อมย้ำว่า สิ่งใดที่รัฐบาลดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาได้ก่อน ก็จะดำเนินการโดยทันที อาทิ นโยบายการเปลี่ยนผ่านรถ ICE ไปสู่ยานยนต์ EV นโยบาย Reuse Recycle แบตเตอร์รี่ และมาตรการเชื้อเพลิง Euro 5 เป็นต้น
รองโฆษกฯ ยังกล่าวว่า การสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาไทยต้องพึ่งความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วน โดยทำทั้งระยะยาวและระยะสั้นไปพร้อมๆกัน การที่บุคลากรทางการศึกษาลุกขึ้นมาผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะคุณครูคือผู้ที่รู้และเข้าใจความต้องการของเด็กมากที่สุด การถอดบทเรียนที่คุณครูได้ยื่นให้กระทรวงศึกษา จะเป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก ให้กับทางรัฐบาลที่จะช่วยผลักดันให้เกิดเรียนการสอนเรื่องการป้องกันภัยพิบัติในรั้วโรงเรียนไทย ซึ่งนอกเหนือจากภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้ว ยังมีมิติของภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การกราดยิง อีกด้วย นอกจากนั้น ภัยที่มีต่อเยาวชนนั้นก็ไม่ได้มีเพียงแค่ร่างกายเพียงอย่างเดียว ภัยด้านจิตใจก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน โดยรองโฆษกฯ อยากเห็นหลักสูตรที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องของความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนไทยจากการล่อลวง บนอินเทอร์เน็ตด้วย
“รัฐบาล และทุกภาคส่วนของรัฐทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาอย่างต่อเนื่อง เด็กและเยาวชนถือเป็นกลุ่มบุคคลที่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่พ่อแม่ และชุมชนได้เป็นอย่างดี จึงต้องเร่งปลูกฝัง โดยเริ่มจากการศึกษาที่ทำให้เด็กเข้าใจถึงถิ่นกำเนิดของฝุ่น และปัญหาฝุ่นเกิดได้จากรอบๆตัวเรา เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการเปลี่ยนแปลง และส่งผลให้เมืองเราดีขึ้นได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” นางรัดเกล้า กล่าว