เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.1 ถกบอร์ดนิวเคลียร์ฯ ผลักดันกฎหมาย-แผนพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ


20 ธ.ค. 2566, 15:23



มท.1 ถกบอร์ดนิวเคลียร์ฯ ผลักดันกฎหมาย-แผนพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ




วันนี้ ( 20 ธ.ค.66 ) เวลา 10.00 น.  ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล   รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ครั้งที่ 3/2566  พร้อมด้วย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นางเพ็ญนภา  กัญชนะ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  เป็นเลขานุการในคณะกรรมการ  โดยมีผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม  

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุมฯ ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมว่า การประชุมคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  ซึ่งคณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะนโยบายและมาตรการต่อคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์  รวมทั้ง การกำกับดูแลนิวเคลียร์และรังสี เพื่อความปลอดภัยและเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนเพี่อการพัฒนาประเทศ และเพื่อความปลอดภัยของประชาชน   อีกทั้ง ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงวางระเบียบและควบคุมดำเนินกิจการให้เป็นไปตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในใบอนุญาตที่ออกตามกฎหมายนี้ รวมทั้งกำหนดแผนฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี  ซึ่งเป็นแผนสนับสนุนและอยู่ภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นต้น

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดวัสดุนิวเคลียร์ที่บุคคลธรรมดาขอรับใบอนุญาตได้  พ.ศ. .... ที่กำหนดให้ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะที่มียูเรเนียม 235 ต่ำกว่าร้อยละ 0.5 ลงมาและมีปริมาณตั้งแต่ 20 ตันขึ้นไป เป็นวัสดุนิวเคลียร์ที่บุคคลธรรมดาขอรับใบอนุญาตได้ ซึ่งร่างดังกล่าวจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป  พร้อมกันนี้  ที่ประชุมเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อเป็นกรอบในการขับเคลื่อนและบูรณาการด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ และได้จัดทำแผนปฏิบัติการของนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2560 - 2564  (ขยายเพิ่มขึ้นถึงปี พ.ศ. 2565) โดยในปัจจุบันได้สิ้นสุดระยะเวลาแผนปฏิบัติการดังกล่าวแล้ว  ดังนั้น สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการกำหนดเป้าหมายในระยะที่ 2 พ.ศ. 2566 - 2570 ออกแบ่งเป็น 2 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ อาทิ ด้านการเกษตร ด้านโภชนาการ ด้านการแพทย์ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอุตสาหกรรม และด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม 2)  ด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ แบ่งออกเป็น ด้านความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี  ซึ่งการจัดทำร่างดังกล่าวให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์และรังสีของประเทศให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ 

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ รับทราบรายงานการดำเนินงานเชิงรุกของประเทศไทยในการเฝ้าระวังความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี กรณีที่มีการระบายน้ำจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทร โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมีความร่วมมือกับ กรมประมง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีซีเซียม-134 และซีเซียม-137 (Cs-134, Cs-137) ในตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีแต่อย่างใด  

“สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมีการรับข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลระดับรังสีในสิ่งแวดล้อมของอาเซียน เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในกรณีเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีในอากาศและในทะเลอีกด้วย จึงสามารถมั่นใจได้ว่าหากมีเหตุการณ์รั่วไหลที่เกี่ยวข้องดังกล่าว สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  จะสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันการณ์และสามารถสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนได้” นายคารม ย้ำ









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.