เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สส.ศักดิ์ดา บรรยายให้ความรู้เรื่อง น้ำบาดาลหรือน้ำใต้ดิน


20 ธ.ค. 2566, 19:49



สส.ศักดิ์ดา บรรยายให้ความรู้เรื่อง น้ำบาดาลหรือน้ำใต้ดิน




กาญจนบุรี - สส.ศักดิ์ดา บรรยายให้ความรู้เรื่อง น้ำบาดาลหรือน้ำใต้ดิน เผย สะอาด ปราศจากตะกอนและเชื้อโรค ขั้นตอนในการนำมาใช้ไม่ยุ่งยากซับซ้อน กักเก็บอยู่ใต้ดิน จึงไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ เป็นทรัพยากรที่เกิดใหม่ได้เรื่อยๆไม่มีวันหมดถ้าใช้อย่างอนุรักษ์

 

ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.จังหวัดกาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล(ทส.) เจ้าของวลี “น้ำกินน้ำใช้ต้องไม่ขาดแคลน”วันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปบรรยายให้ความรู้ให้กับ คณาจารย์ นักศึกษา รวมทั้งประชาชนที่มาร่วมงานมหกรรมคนรักเกษตร สมุนไพร สุขภาพและการท่องเที่ยว ที่จัดขึ้นโดย ดร.ณัฏฐวุฒิ เอี่ยมอินทร์ ผู้บริหาร ไอสยาม สวนพฤกษาสมุนไพรแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี มีท่านสุรชัย ยุทธชนะ รองเลขาธิการ ส.ป.ก.เป็นประธาน

 

ในวันดังกล่าวผมได้มีโอกาสบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “น้ำบาดาล” หรือน้ำใต้ดิน น้ำบาดาล คือ น้ำที่ถูกกักเก็บอยู่ใต้ดิน บางครั้งพบตามรอยแตก โพรง และรอยแยกในหิน หรือระหว่างในช่องว่างเล็ก ๆ ระหว่างเม็ดกรวดหรือเม็ดทรายที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งน้ำบาดาลมีต้นกำเนิดจากน้ำฝน หิมะ หมอก น้ำค้าง ที่ตกลงบนพื้นผิวโลก แล้วไหลซึมลงไปตามช่องว่าง ระหว่างเม็ดดิน เม็ดหิน หรือรอยแตกของหิน ผ่านส่วนสัมผัสอากาศ ไปยังที่ต่ำกว่า หรือแรงดันน้อยกว่า แล้วสะสมตัวรวมกันจนกลายเป็นส่วนที่อิ่มตัวด้วยน้ำ หรือเขตอิ่มน้ำ(Saturated zone zone)

 

สำหรับความแตกต่างระหว่าง น้ำผิวดิน  กับ น้ำบาดาล น้ำผิวดินเป็นทรัพยากรที่เปิดเผยมองเห็นได้ชัดเจน มีปริมาณมากในฤดูฝนแต่ขาดแคลนในฤดูแล้ง คุณภาพน้ำผันแปรตามฤดูกาล เข้าถึงได้ง่าย แต่ต้องใช้งบประมาณในการสร้างแหล่งกักเก็บสูงมาก ตัวอย่างเช่น เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ เป็นต้น

 

ส่วนน้ำบาดาล หรือน้ำใต้ดินนั้น เป็นทรัพยากรที่ซ่อนเร้น มีปริมาณค่อนข้างสม่ำเสมอ คุณภาพน้ำคงที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับฤดูกาล ปนเปื้อนได้ยาก พัฒนาขึ้นมาใช้ได้ยาก มีแหล่งกักเก็บใต้ดินตามธรรมชาติ ข้อดีของน้ำบาดาล สะอาด ปราศจากตะกอนและเชื้อโรค ยากต่อการปนเปื้อน สามารถสะสมอยู่ใต้ดินได้นานไม่มีการระเหย ขั้นตอนในการนำมาใช้ไม่ยุ่งยากซับซ้อน กักเก็บอยู่ใต้ดิน จึงไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ เป็นทรัพยากรที่เกิดใหม่ได้เรื่อยๆไม่มีวันหมดถ้าใช้อย่างอนุรักษ์

 

ซึ่งน้ำบาดาล นับวันจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันน้ำผิวดินมีปริมาณไม่เพียงพอ สืบเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำฝนที่ตก พื้นที่เก็บกักน้ำผิวดินมีจำนวนไม่เพียงพอ และความต้องการใช้น้ำเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม เพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่หาน้ำผิวดินได้ยาก สำหรับพื้นที่ของประเทศไทยประมาณร้อยละ 80 เป็นชั้น หินแข็ง และร้อยละ 20 เป็นชั้นหินร่วน ซึ่งโดยทั่วไปหินร่วนจะมีศักยภาพของน้ำบาดาลสูงกว่าในหินแข็ง

 

ภาคเหนือมีพื้นที่ประมาณ 169,640 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 16 จังหวัด คือเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา อุตรดิตถ์ ลำพูน ตาก พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์ โดยมีแม่น้ำสำคัญ คือ ปิง วัง ยม น่าน ป่าสักตอนเหนือ และแม่น้ำโขง ศักยภาพของน้ำบาดาล แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ศักยภาพน้ำบาดาลในหินร่วนกับศักยภาพน้ำบาดาลในหินแข็ง

 

แหล่งน้ำบาดาลในหินร่วนในภาคเหนือ นับว่ามีความสำคัญมากที่สุด เพราะภาคนี้ประกอบด้วย ที่ราบลุ่มหรือแอ่งระหว่างหุบเขา (Intermontane basin) มากมายและแอ่งดังกล่าวก็เป็นพื้นที่เขตชุมชนที่มีความต้องการใช้น้ำเป็นปริมาณมาก

 

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.จังหวัดกาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล(ทส.) กล่าวว่า ในส่วนแหล่งน้ำบาดาลในหินร่วน ภาคกลาง และภาคตะวันตก นับว่ามีความสำคัญมากเพราะส่วนใหญ่เป็นแอ่งหรือเป็นที่ราบขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งสะสมของตะกอนร่วนที่เป็นแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ แหล่งน้ำบาดาลในหินร่วนที่สำคัญแบ่งได้เป็น 2 แอ่ง คือ แอ่งแม่น้ำเจ้าพระยา กับแอ่งแม่น้ำแม่กลอง โดยที่ตะกอนในแอ่งแม่น้ำเจ้าพระยามีความหนาเฉลี่ย 200-600 เมตร โดยมีความหนามากที่สุดประมาณ 2,000 เมตร ส่วนแอ่งแม่น้ำแม่กลองตะกอนหนาเฉลี่ย 100-300 เมตร

 

ประเภทของหินร่วนที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำบาดาลในภาคนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ 1.ตะกอนน้ำพายุคปัจจุบัน 2. ตะกอนน้ำพายุคเก่า และ 3. ตะกอนในที่ราบเชิงเขา ซึ่งตะกอนน้ำพายุคปัจจุบัน เป็นแหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นที่สำคัญของภาคนี้ ความหนาของตะกอนเฉลี่ย 20-50 เมตร ประกอบด้วยกรวด ทราย และดินเหนียว ที่มีการคัดขนาดที่ดี พื้นที่เป็นแหล่งตะกอนน้ำพายุคปัจจุบันที่สำคัญได้แก่ พื้นที่บริเวณด้านตะวันออกของจังหวัดกาญจนบุรี เช่น อำเภอท่าม่วง ท่ามะกา ด้านเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรี พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดชัยนาท ถึงอ่างทอง ปริมาณน้ำที่ได้จากตะกอนชุดนี้อยู่ในเกณฑ์ 30-50 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง บางแห่งได้ถึง 80 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง

 

ตะกอนน้ำพายุคเก่า ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ประกอบด้วย กรวด ทราย และดินเหนียวสลับกัน มีความหนามากที่สุด ประมาณ 2,000 เมตร แต่ปัจจุบันมีการศึกษาเฉพาะที่ความลึกไม่เกิน 700 เมตร มีชั้นกรวดทรายที่เป็นชั้นน้ำบาดาล จำนวน 8 ชั้น แต่ละชั้นมีความหนาเฉลี่ย 50 เมตร บริเวณพื้นที่ตั้งแต่ริมทะเลอ่าวไทยไปจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม และนครนายก ชั้นบนปิดทับด้วยดินเหนียวที่พัดพามาโดยน้ำทะเล ส่วนชั้นน้ำบาดาลแต่ละชั้นจะมีดินเหนียวชั้นอยู่โดยรองรับอยู่ด้านล่าง และปิดทับอยู่ด้านบนด้วย ทำให้ชั้นน้ำบาดาลแต่ละชั้นเป็นชนิดชั้นน้ำบาดาลใต้แรงดัน (confined aquifer)

 

สำหรับชั้นน้ำบาดาล 8 ชั้นดังกล่าว ประกอบด้วย 1. ชั้นน้ำกรุงเทพ (Bangkok aquifer) ลึกประมาณ 50 เมตร 2. ชั้นน้ำพระประแดง (Phra Pradaeng aquifer) ลึกประมาณ 100 เมตร 3. ชั้นน้ำนครหลวง (Nonthabun aquifer) ลึกประมาณ 150 เมตร 4. ชั้นน้ำนนทบุรี (Nonthabun aquifer) ลึกประมาณ 200 เมตร

 

5. ชั้นน้ำสามโคก (Samkhok aquifer) ลึกประมาณ 300 เมตร 6. ชั้นน้ำพญาไท (Phaya Thai aquifer) ลึกประมาณ 350 เมตร 7. ชั้นน้ำธนบุรี (Thonbun aquifer) ลึกประมาณ 450 เมตร และ 8. ชั้นน้ำปากน้ำ (Pak Nam aquifer) ลึกประมาณ 550 เมตร การถ่ายทอดมอบความรู้ให้แก่ประชาชนที่มาร่วมงาน ทุกคนตั้งใจฟังและมีความหวังในการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมที่ดินแห้งแล้งด้วยน้ำใต้ดิน ซึ่งน้ำบาดาลจะช่วยเหล่าเกษตรกรได้อย่างแน่นอน

 

สุดท้ายนี้ขอแจ้งข่าวดีให้พี่น้องประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี ในพื้นที่เขต 4 ทราบว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะดำเนินโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ในปีนี้ เบื้องต้น จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย  1. บ้านหนองโก ต.วังไผ่ อ.ห้วยกระเจา 2. บ้านท่าหว้า ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย 3.บ้านหนองจั่น  ต.หนองนกแก้ว อ.เลาขวัญ และ 4. บ้านหนองปลิง ต.ทุ่งกระบ่ำ อ.เลาขวัญ และ ดำเนินโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ 2 แห่ง ประกอบด้วย บ้านหนองสระ ต.เลาขวัญ อ.เลาขวัญ และ 2.บ้านเขาสิงห์โต ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย

 



 


 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.